พระเวสสันดร เป็นชาติสุดท้ายแห่งการบำเพ็ญทานบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานอย่าง กระนั้นกรณีการให้ทานของพระองค์อาจเป็นที่สงสัยและเข้าใจผิดในเชิงจริยศาสตร์ เพราะไม่มีใครตัดใจให้ทานในลักษณะดังกล่าวได้ แต่ด้วยเป็นวิสัยของพระโพธิสัตว์ อาจอธิบายเชิงบวกได้ว่า “ทานบารมี” ที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นการให้ทั้งหมดนี้ นำไปสู่การบรรลุโพธิญาณ และสั่งสอนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้
เวสสันดรชาดก มีอิทธิพลต่อการให้ทานและจัดงานบุญผะเหวดจนกลายเป็นประเพณีและจารีตที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งจัดเทศน์มหาชาติอย่างยิ่งใหญ่ ครบทั้ง 13 กัณฑ์ 1000 กว่าคาถา ซึ่งจะว่าไปการฟังเทศน์จนจบนั้นใช้เวลาทั้งวัน ทั้งคืน เกือบสองวันเลยทีเดียว สำหรับท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้ฟังเทศน์สดๆ เราได้รวบรวมเนื้อหาของชาดกไว้ให้อ่านอุ่นเครื่อง
(เทศน์มหาชาติ ทำนองจะไพเราะเสนาะโสตอีกแบบ หากได้ฟัง มาประยุกต์กับการอ่านกัณฑ์ด้วยตนเอง จะเพลิดเพลินอีกแบบ)
กัณฑ์ที่๑ “ทศพร” เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ภาคสวรรค์ พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญ ท้าวสักกะเทวราชสวามีทรงทราบจึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร ๑๐ ประการ คือ ให้ได้อยู่ในประสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้คิ้วดำสนิท ขอให้พระนามว่า ผุสดี ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลายและมีใจบุญ ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม และข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
กัณฑ์ที่๒ หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชาชนสีพีโกรธแค้นจึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกตพระนางผุสดีได้จุติลงมาเป็นพระราชธิดาพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ ๑๖ ชันษาจึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัย แห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า “เวสสันดร”ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงนำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมีให้มีนามว่า “ปัจจัยนาค” เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาก็ยกสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชบิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรส ๑ องค์ชื่อ ชาลี ราชธิดา ชื่อ กัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อพระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกาลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัย จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
กัณฑ์ที่๓ “ทานกัณฑ์” เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่
ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลี และกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสาสรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ ๗๐๐
กัณฑ์ที่๔ “วนประเวศน์” เป็นกัณฑ์สี่กษัตริย์เดินดงบ่ายประพักตร์สู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับพักหนาศาลาพระกษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ และเมื่อเสด็จถึงถึงเขาวงกตได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤๅษีพำนักในอาศรมสืบมา
กัณฑ์ที่๕ “ชูชก” เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตตามาเป็นภรรยาและหมายจะได้โอรส และธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก พนักในบ้านทุนวิฐะ เที่ยวขอทานในเมืองต่างๆ เมื่อได้เงินถึง ๑๐๐ กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมีย แต่ได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวเมื่อชูชกมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพราหมณ์เจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
กัณฑ์ที่๖ “จุลพน” เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงชูชก และชี้ทางสู่อาศรมอจุตฤๅษี ชูชกได้ชูกลักลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของเจ้ากรุงสญชัยจึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี
กัณฑ์ที่๗ “มหาพล” เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกหล่อจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดรแล้วก็รอนแรมเดินไพรไปหา เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกหล่อนจนอจุตฤๅษี ให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่๘ กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงได้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพรากรุ่งเช้าเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้วชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารจึงพากันลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระพระเวสสันดรจึงลงเสด็จติดตามสองกุมาร แล้วจึงมอบให้แก่ชูชก
กัณฑ์ที่๙ “กัณฑ์มัทรี” เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรม แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรส พระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ จึงออกเที่ยวหาโอรสและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบส จึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษพระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบนางจึงได้ทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ เป็นกรรณที่พระอินทร์เจ้าจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วสลบลงเมื่อได้พบท้าวสักกะเทวราชเสด็จแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรีพระเวสสันดรจึงพระราชทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกะเทวราชในร่างพราหมณ์จึงฝากนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป ตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ
กัณฑ์ที่๑๑ “มหาราช” เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์องค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมารก่อนเสด็จนิวัติถึงมหานครสีพี เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้เหล่าเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร จนเดินทางถึงกรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายยังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพากุมารน้อยสองพระองค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ดับชีพตักษัยด้วยเพราะเดโชธาตุไม่ย่อย ชาลีจูงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครกลิงคะได้โปรดคืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
กัณฑ์ที่๑๒ “ฉกษัตริย์” เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้า ณ อาศรมดาบสที่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วัน จึงเดินถึงเขาวงกต เสียงโห่ ร้องของทหารทั้ง ๔ เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนนครสีพี จึงชวนนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขาพระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดา ได้ทรงตรัสทูลพระเวสสันดรและเมื่อหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน ท้าวสักกะเทวราชจึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และหวยหาญได้หายเศร้าโศก
กัณฑ์ที่๑๓ “นครกัณฑ์” เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัติพระนครททพระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา พระเจ้ากรุงสัญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรีและเสด็จกลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชนท้าวโกสีห์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนขนเอาตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าคลังหลวง ในการต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
ตำนาน ความเชื่อ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล
มูลเหตุแห่งการทำบุญผะเหวด มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้วจึงสั่งความกับพระมาลัยว่า
“หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณชี พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์” ด้วยเหตุนี้เอง ชาวร้อยเอ็ดจึงได้ยกเอา ฮีตเดือนสี่ “บุญผะเหวด” ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ภายใต้ชื่องาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด” ถือได้ว่าเป็นงานบุญมหาชาติที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจากเพจ บุญผะเหวด 101