บอกต่อๆ กันไป รู้เท่าทัน (เล่ห์) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “อย.” แอบมองอยู่นะจ๊ะ

 

  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาการทำตลาดของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ต่างๆ สร้างสีสันให้กับวงการฯ อยู่ไม่น้อย
  • แต่ก็นั่นแหล่ะ ต่อมาพบว่าบางผลิตภัณพ์โอ้อวด โฆษณาเกินจริง นอกจากทำให้ผู้บริโภคเสียทรัพย์เพราะหลงเชื่อแล้ว บางรายยังเลยเถิดไปถึงชีวิต
  • ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง อย. จึงต้องประกาศจุดยืน ลงพื้นที่และคุมเข้มรายละเอียดอย่างหนัก
  • เป็นผลให้โฆษณาอาหารเสริมช่วงหลังสร่างซาลง รวมไปถึงผู้ประกอบการเองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเคารพกฏอย่างเคร่งครัด
  • “ข้อห้าม” อะไรบ้าง ที่จะไม่ทำให้มนุษย์เลเวล 1  อย่างเราๆ หลงเชื่อ
  • ขณะเดียวกัน “ผู้ประกอบการ” ก็ต้องรู้ว่า คำไหน ข้อความใด ที่ใช้ไม่ได้ ไม่อนุญาต เสี่ยงต่อการปรับและยกเลิกการจำหน่าย

 

              “ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่ม “สตาร์ท-อัพ” และผู้ที่สนใจคิดจะทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด  เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีผู้ประกอบการอยู่ในธุรกิจนี้จำนวนมาก แต่การเป็นทั้งผู้ผลิตในรูปแบบ OEM และ ODM ทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมต้องปรับตัวไปกับทุกสถานการณ์ และจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ณ ปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ ปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมายาวนาน ทำให้เราตระหนักถึงการทำธุรกิจด้วยหลักธรรมมาภิบาล และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม”

  นางวรรณี วอง กรรมการผู้จัดการ  บริษัท นิวทรีเร จำกัด ผู้เผลิตและรับสร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเปิดเผยถึงที่มาของการจัดสัมมนาเชิงความรู้ “รู้ทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ขายยั่งยืน” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตลอดจนยกระดับการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการ และกลุ่ม Start Up ในการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานออกสู่ตลาด  รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับขอบเขตในการโฆษณาในทุกช่องทางการตลาด

ด้านข้อมูลที่น่าสนใจ คุณนฤมล ฉัตรสง่า ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เผยความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นหัวข้อดังนี้ว่า

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การเลือกซื้อและขอบเขตการโฆษณา  ก่อนอื่นขอนิยามต่างกันดังนี้  “อาหาร” คือ วัตถุทุกชนิดที่คน กิน อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ    “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือ ผลิตภัณฑ์ที่รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ อยู่ในรูปแบบ เม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่นซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารปกติ สำหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ  วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สีและเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส

อาหาร และ ยา แตกต่างกันอย่างไร? อาหาร 1.วัตถุทุกชนิดที่คน กิน อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหรือยาเสพติดให้โทษ 2.วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สี และเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส  ยา 1.วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ 2.วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปหรือ 3.วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลต่อสุขภาพโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ ยา จึงไม่มีผลในการบรรเทาโรค บำบัด หรือรักษาโรค จึงห้ามการโฆษณา หรือแสดงข้อความบนฉลากที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สามารถ บรรเทา บำบัด รักษาโรคได้ ไม่อนุญาติให้กล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพคุณประโยชน์โดยบุคคล / องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ

แล้วเราจะมีวิธีเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ถูกต้องอย่างไร?? ตรวจสอบเลขอย.และอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์

เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th  Line @FDAthai  Oryor Smart Application  (สถานะของผลิตภัณฑ์ /เลข อย./ชื่อผลิตภัณฑ์ / ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

ทั้งนี้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบในปัจจุบัน คือ โฆษณาไม่ตรงตามที่อนุญาต, โฆษณาอาหารที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณ คุณภาพ คุณประโยชน์โดยไม่ขออนุญาต, แสดงข้อความที่ไม่อนุญาตในการโฆษณา แทนข้อความที่ได้รับอนุญาต เพราะเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน, ขออนุญาตบางข้อความ แล้วนำไปสอดไส้ในแผ่นพับให้เข้าใจว่าได้รับอนุญาติแล้ว โฆษณาลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น เป็นยารักษาโรค แสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค ล้างพิษ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มขนาดอก ปรับฮอร์โมน ทำให้รอบเดือนปกติ ทำให้ความจำดี เป็นต้น  ใช้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือสังคมทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์โดยกล่าวอ้างสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง, แสดงตัวอย่างผู้ป่วยให้สัมภาษณ์ ก่อน-หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร (คำประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หลักเกณฑ์ทั่วไป

  • ชื่ออาหารต้องตรงตามที่ได้รับอนุญาต
  • ภาพและข้อความที่ปรากฏอยู่ในโฆษณา ต้องถูกต้องตามกฏหมายและไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์
  • ห้ามใช้ข้อความที่เป็นการเปรียบเทียบหรือทับถมผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น
  • ข้อความ ภาพยนตร์หรือภาพนิ่งที่ใช้ในการโฆษณาต้องไม่ขัดกับกฏระเบียบของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

หลักเกณฑ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

  • ต้องแสดงข้อความหรือเสียงทางสื่อโฆษณาว่า “ไม่มีผลในการป้องกัน หรือรักษาโรค” พร้อมกับข้อความ “อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค”

 

ห้ามโฆษณาที่เข้าข่ายเป็นการแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์  อาทิเช่น

  • กล่าวอ้างทางสุขภาพ
  • โฆษณาผลิตภัณฑ์ในลักษณะการให้ข่าว สัมภาษณ์ รายการสด
  • โฆษณาแฝงเชิงบทความ
  • โฆษณาแฝงที่ไม่ได้แสดงภาพหรือชื่อผลิตภัณฑ์แต่มีการเชื่อมโยงเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการค้า
  • ต้องขออนุญาตก่อนทำการโฆษณา

 

ตัวอย่างข้อความที่ห้ามใช้

สรรพคุณทางยา บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค หรือ ภาวะอาการต่างๆ

ป้องกัน บำบัด รักษา โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเก๊าท์ โรคภูมิแพ้ ฯลฯ

บำรุงร่างกาย สมอง หัวใจ ระบบประสาท โลหิต

เพิ่มภูมิต้านทาน ต่อต้านไวรัส ยับยั้บแบคทีเรีย

ลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด

ปรับความดัน

แก้ปวดหลัง ปวดข้อ แก้อาการ แก้ปัญหา

สรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เห็นแล้วเชื่อได้ว่าเป็นโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง

ป้องกันแดด ผิวพรรณผ่องใส เปล่งปลั่ง ปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ

ลบรอยเหี่ยวย่น ลดสิวฝ้า จุดด่างดำ หน้าเด้ง ตึงกระชับ

หน้าใส่ก่อนกว่าวัย ชะลอความแก่ ดูแลลึกถึงระดับเซลล์ผิว

ลดน้ำหนัก ช่วยเร่งการเผาผลาญ กระชับสัดส่วน

ดักจับแป้ง น้ำตาล ไขมัน เผาผลาญไขมัน

ลดขนาดเอว ต้นแขน ต้นขา BLOCK BURN BUILD

เสริมสมรรถภาพทางเพศ แข็ง ทน อึด เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น

อกฟู รูฟิต กระชับ ช่วงล่างเป๊ะ ตกขาวหายจริง อาหารของวัยทอง

ล้างพิษ ปรับสมดุลร่างกาย ลดสารพิษ กำจัดสารเคมี ดีท็อกซ์

ข้อความอื่นๆ

สวย สดใส ดูดี มั่นใจ

อายุวัฒนะ สเต็มเซลล์ ชะลอ

ลดน้ำหนัก ขจัดไขมันส่วนเกิน ดักจับไขมัน ผอม เพรียว

พัฒนาสมอง ความฉลาดทางสมอง อารมณ์ สังคม เก่ง ฉลาด

 

ตัวอย่างรูปภาพห้ามใช้

ภาพผลของการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนและหลังรับประทาน (Before-After) เช่น ภาพคนอ้วน-คนผอม คนผิวคล้ำ-คนผิวขาว

ภาพที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์เช่น มีกล้ามเนื้อ ภาพคนหุ่นดี มีสัดส่วน

ภาพเครื่องชั่งน้ำหนัก สายวัด

ภาพที่เสี่ยงต่ออันตราย

ภาพทารก หรือภาพกราฟฟิกทารก

ภาพสมอง หรือภาพที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นสมอง

ภาพอวัยะภายในร่างกาย

ภาพที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือขัดแย้ง

ภาพที่ขัดวัฒนธรรมหรือศีลธรรมอันดีงาม

 

ถ้อยคำประกอบ ห้ามเด็ดขาด

  • อย.รับรอง / ปลอดภัย
  • ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหารย์ วิเศษ
  • ดีเลิศ ยอดเยี่ยม สุดยอด ที่สุด ดีที่สุด บริสุทธิ์
  • ครั้งแรก หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย
  • ข้อความทับถม เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น

 

ความผิดทางกฏหมายที่สามารถดำเนินการได้ทันที

การดำเนินการทางกฏหมาย ภายใต้ พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 และกฏหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช.

  • มาตรา 41 การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต (กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท)
  • มาตรา 40 การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร (กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 31 วรรค 2 กรณีผู้ประกอบการดำเนินกิจการใดๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้ กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ กรณีฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง