หนักแค่ไหน ถามใจเธอดู!! งาน “มหกรรมการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ครั้งที่ 11 Oppourtunity Learning’ ได้เชิญไอดอลนักกีฬา เผยแรงบันดาลใจ“วัยฝัน การศึกษา สู่ความความสำเร็จ” นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ผ่ ได้แก่ ปลื้มจิตร์ ถินขาว , วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ , นุศรา ต้อมคำ , ทัดดาว นึกแจ้ง , ชัชชุอร โมกศรี มาแนะนำเคล็ดลับ เผยเส้นทางความสำเร็จ
วิทยากรตัวแทนนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ไล่ตั้งแต่ พี่กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ เล่าถึง ความยากลำบากในการเป็นตัวแทนทีมชาติของแต่ละนักกีฬาวอลเลย์บอลต้องผ่านแบบฝึกหัดที่คล้ายๆ กันเพราะต่างมาจากครอบครัวเด็กต่างจังหวัดที่ยากจน หรือไม่ก็มีคุณพ่อคุณแม่เป็นข้าราชการครูแทบทั้งสิ้น อาทิ แนน-ทัดดาว เล่าว่า ตนเองเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีฐานะทางบ้านยากจนมาก แต่โชคดีที่ตนเองได้มาเป็นตัวแทนทีมชาติไทยอย่างไม่เคยนึกฝัน
“ ด้วยบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้ออกไปไหน แต่ด้วยส่วนสูงเพราะเป็นคนตัวสูงมาตั้งแต่เด็ก ทีนี้แนนมีโอกาสมาแข่งทีมโรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีอาจารย์ชื่อบรรจงของจังหวัดขอนแก่นมาเห็น ซึ่งตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้มาแข่งในระดับจังหวัด และไม่เคยคิดฝันว่าจะได้มาทดสอบคัดเป็นตัวแทนทีมชาติไทย และไม่เคยคิดว่าจะได้มายืนตรงจุด ๆ นี้ “แนน-ทัดดาวเปิดใจเล่า
ด้าน บุ๋มบิ๋ม-ชัชชุอร น้องเล็กที่สุดของทีม ที่ติดทีมชาติตั้งแต่อายุยังน้อยเพียง 14 ปี ขณะที่เรียนอยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งการเป็นเด็กชั้นมัธยมต้องมาซ้อมเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องรู้จักแบ่งเวลาทั้งเรียนและเล่นกีฬาให้ดี เพราะทั้งเหนื่อยและหนักแต่ชัชชุอรก็ผ่านมาได้ แม้เป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก เธอมีวิธีจัดการกับตัวเองอย่างไร
“ คือหนูต้องจัดเวลา หนูติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 14 เรียนอยู่ชั้นมัธยม 2 พอติดทีมชาติก็ต้องมาเก็บตัวในกรุงเทพฯ แต่ช่วงโรงเรียนสอบ ก็จะปล่อยตัวมาสอบ หนูก็ต้องกลับมาที่โรงเรียนมาทำรายงานย้อนหลังเพื่อส่งอาจารย์ทุกวิชา ต้องตื่นไปซ้อมตั้งแต่ตี 5 ทุกเช้า ขึ้นเรียน 8 โมง ตอนเย็นก็ต้องกลับไปซ้อมต่ออีก ” ชัชชุอรเล่า ซึ่งพี่ ๆ ทุกคนในทีมก็เคยผ่านประสบการณ์ในช่วงวัยเรียนมาแบบนี้ พวกเธอจึงอยากแชร์ประสบการณ์ให้น้องๆ นักเรียนชั้นประถมได้ฟังว่า การเล่นกีฬาไม่ได้ให้แค่ประโยชน์ทางด้านร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น อย่างเช่น พี่กิ๊ฟ-วิลาวัณย์เล่าว่า การเป็นตัวแทนทีมวอลเลย์บอลทีมชาติไทยของเธอ ทำให้เธอสามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เพราะนักกีฬาวอลเลย์บอลทุกคนมีฐานะค่อนข้างยากจน นักกีฬาทุกคนส่วนใหญ่มาจากบ้านนอก มีพ่อแม่ที่ทำไร่ ทำนา หรือล้วนเป็นลูกข้าราชการครู อย่างวิลาวัลย์เลือกเล่นกีฬาให้กับการเรียนด้วยเพราะเรียนอย่างเดียวไมได้ แม้เธอจะเป็นเด็กหัวดีและเรียนเก่งสอบได้ที่หนึ่งอยู่เสมอๆ
“ ครอบครัวพี่กิ๊ฟมาจากครอบครัวที่ทุกคนเป็นครูหมดเลย แต่พี่ชอบกีฬา พี่กับครอบครัวเลยมองต่างว่า ไม่ต้องจบมาแล้วรับราชการ แต่เรามองต่างว่าเป็นนักกีฬาอาชีพก็ได้ ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว เล่นกีฬาก็ได้ด้วย “วิลาวัณย์เล่า
ด้าน หน่อง-ปลื้มจิตร์ เสริมว่า การเล่นกีฬาช่วยที่บ้านได้มาก เธอเลือกเล่นกีฬาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ด้วยเช่นกัน “ ตอนเด็กๆ พี่หน่องคิดว่า ถ้าเราเป็นนักกีฬาในสังกัดของโรงเรียนพี่จะได้เรียนฟรี ได้เสื้อผ้า ได้ทุนเรียนทั้งหมดเลย เรียกว่าเปิดการศึกษาให้พี่ ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม 1 พี่เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของจังหวัดอ่างทอง พอจบมัธยม 4 ครูเห็นแววก็ดึงชักชวนมาเรียนในกรุงเทพฯที่โรงเรียนบดินทร์เดชา ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯตั้งแต่มัธยม 4 รู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่มั่นใจว่าจะเรียนสู้เพื่อนได้หรือเปล่า เพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัดไม่รู้ว่าจะสู้เพื่อนได้ไหม เรื่องการแบ่งเวลาเรียนกับฝึกซ้อมกีฬาอีก พี่หน่องเชื่อว่า ถ้าพี่ไม่ได้เล่นกีฬาพี่ไม่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนบดินทร์เดชาแน่นอน การเล่นกีฬาทำให้พี่ได้มีโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น พอเรียนจบมัธยม 6 ด้วยความที่พี่เป็นนักกีฬา มหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วประเทศก็อยากดึงไปเล่นกีฬาให้มหาวิทยาลัยอีก ทำให้พี่หน่องสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไหน พอพี่เล่นกีฬาให้มหาวิทยาลัย ทำให้พี่เรียนฟรีอีก ในมหาวิทยาลัยดัง ๆ เพราะเขาสนใจเรา ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือก เลือกเรียนควบคู่กับเล่นกีฬาไปด้วย สร้างทั้งสุขภาพและเรียนไปด้วยได้ หลังจากได้การศึกษาที่ดีแล้ว พอพี่หน่องเริ่มโตขึ้น พี่มองว่ากีฬาให้ความมั่นคงของชีวิตได้อีกด้วย ” ซึ่งสอดคล้องกับ ซาร่า-นุศรา ที่เล่าเสริมว่า พี่ ๆ ทุกคนยกเว้นชัชชุอรที่ยังอยู่ในวัยเรียนอยู่ ซึ่งพี่ ๆ ในทีมวอลเลย์บอลทีมชาติส่วนใหญ่ได้เป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (Power Purchase Agreement หรือ PPA) กันทุกคน ซึ่งอนาคตและหน้าที่การงานที่ดีของทุก ๆ คนล้วนเป็นการต่อยอดมาจากการเล่นกีฬาทั้งสิ้น
“ การเล่นกีฬาทำให้เรามีงานรองรับ เกิดความมั่นคงในชีวิต เรามีรายได้โดยไม่ต้องกังวล แม้เก็บตัวทีมชาติก็ได้เงินเดือนรองรับ พ่อแม่เจ็บป่วยเราก็เบิกเงินค่ารักษาได้ เป็นเรื่องราวเส้นทางของพี่ ๆ ที่เริ่มมาจากเด็กบ้านนอก พี่ ๆ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ” พี่ซาร่า-นุศรากล่าวทิ้งท้าย
ลิงค์วิดีโองาน
https://www.youtube.com/watch?v=RyAMsO14fGg