“ชาติหน้ามีจริง ภพชาติมีอยู่จริง นะลูกนะ ต้องมาเกิดมาตายไม่มีจบสิ้นนะ บุญไม่มี ศีลไม่มี สมาธิไม่มี เกิดเป็นคนไม่ได้เลย ศีล สมาธิ นี้ต้องมีนะ ต้องทำให้เกิดในใจเรา ขาดไม่ได้เลยนะลูก ศีล สมาธิ นี้แหล่ะ ลูกเอ๋ย กลับมาเกิดเป็นคนได้ เป็นนางฟ้าเทวดาได้ ถ้าไม่มีแล้วไปเกิดเป็นปลา เป็นวัว เป็นควาย เป็นไก่ ให้เขาฆ่า หาที่จบไม่ได้เลยนะ”คุณแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม
ช่วงหลังๆ เห็นสตรีเพศศึกษาปฏิบัติธรรมกันเยอะ จึงลองค้นคว้าในประวัติพบว่าในอดีตกาลของไทยเรามี “อริยบุคคลผู้ทรงอภิญญา” เป็นสตรีท่านหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในเรื่อง “ฆราวาสผู้เปี่ยมด้วยธรรม” ด้วยเหตุที่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้ กลายเป็นที่นับถือ กราบไหว้ ฯลฯ ทั้งนี้ท่านยังได้จุดประกายให้สตรีหลายคน ในการศึกษาธรรมถือเป็นกุศลยิ่ง วันนี้เราจึงได้รวบรวมประวัติท่านมาไว้เป็นอนุสรณ์
คุณแม่บุญเรือน กลิ่นมกา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 ปีมะเมียขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2437 กำเนิดในครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน เกิดอยู่ที่คลองสามวา อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ต่อมาบิดามารดาได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี อยู่ในละแวกบ้านชาวสวน
ชีวิตวัยเยาว์ ได้รับการศึกษาให้รู้ภาษาไทย พออ่าน ออกเขียนได้ มีความสามารถในการทำกับข้าวมีรสอร่อยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริก อาหารจำพวกแกง นอกจากนี้ก็ยังมีความสามารถในการเย็บจักร ตัดเสื้อผ้าได้ เมื่ออายุราว ๆ 15 ปี ท่านได้รับการฝึกสอน ให้รู้จักการนวด และศึกษา ตำราหมอนวด จากปู่ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นหมอนวดผู้มีชื่อเสียง บวกกับการได้รับมอบตำราหมอนวด ทำให้ได้ศึกษาจนชำนาญ และกลายเป็นแม่หมอผู้มีชื่อเสียง ขณะเป็นวัยรุ่น ได้รู้จักกับ หลวงตาพริ้ง (คุณลุง) ซึ่งเป็นพระภิกษุ อยู่ที่วัดบางปะกอก
ท่านได้นำอาหารไปถวายอยู่บ่อย ๆ ทำให้ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักธรรมะ และ คุณธรรมในการดำเนินชีวิต ตามแนวคำสั่งสอนของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเริ่มเลื่อมใสศรัทธา และมีใจรัก ในงานบุญงานกุศลมากขึ้น เป็นปฐมเหตุสำคัญที่ทำให้บำเพ็ญกรณีญกรณียกิจเป็นนักบุญในพระพุทธศาสนา และนำไปสู่การบำเพ็ญภาวนาในเวลาต่อมา
เมื่อมีอายุพอสมควร ได้ทำการสมรสกับ ส.ต.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม อยู่กินฉันท์สามีภรรยา (แต่ก็ไม่มิบุตรธิดาด้วยกัน ทั้งนี้ได้รับอุปการะเด็ก) โดย ส.ต.ต.จ้อย เลื่อมใสในพุทธศาสนาเช่นกัน ได้ไปฟังพระสวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์อยู่บ่อย ๆ ทั้งได้ฝึกหัดทำวิปัสสนากัมมฐานที่วัด ผู้เป็นสามีจึงได้ลาอุปสมบท ที่วัดสัมพันธวงศ์ เป็นเวลา 1 พรรษา ทำให้คุณแม่บุญเรือน ได้มีความ ใกล้ชิดและผูกพันในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเข้าไปอีก เมื่อสามีสึกออกมาแล้ว คุณแม่บุญเรือน จึงได้ลาสามีบวชเป็นชีและอยู่ชปฏิบัติธรรมที่วัด สัมพันธวงศ์ ความพากเพียรพยายามฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้เกิดความเข้าใจ และ ปลอดโปร่งในธรรมะ รักความสงบประกอบการกุศลต่าง ๆ
ผลสำเร็จของงานบุญ ด้วยความตั้งใจจริง ในการบำเพ็ญเพียร หัดวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำใจให้สงบระงับ ฝึกใจให้แข็งแกร่งแก่กล้า มองเห็นธรรมอันวิเศษของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังผลให้เป็นที่ทราบในหมู่ผู้ร่วมวิปัสสนาด้วยกัน ว่าคุณแม่บุญเรือนได้สำเร็จแล้วอย่างแท้จริง คือสำเร็จใน จตุตถฌาน หรือ ฌาน4 อันประกอบด้วย
ปฐมฌาน หมายถึง ฌาน ขั้นแรก มีองค์ 5 คือ ยังมีตรึก เรียกว่า วิตก และ ตรอง เรียกว่า วิจารณ์ เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ ซ้ำยังมีปิติ คือ ความอิ่มใจ มีความสุข คือความสบายใจ เกิดแต่ความวิเวก คือ ความเงียบสงบ ประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปได้ เรียกว่า ” เอกัดตา” ทุติยฌาน หมายถึง ฌานลงไปได้ คงเหลือแต่ ปีติ และ สุขอันเกิดแก่สมาธิกับ เอกัคตา ตติยฌาน เป็น ฌาน ชั้นสาม คงเหลือแต่องค์สอง คือละปิติเสียได้ คงเหลือแต่สุขและเอกัคตา จตุตถฌาน เป็น ฌานสำคัญชั้น 4 มีองค์ 2 คือละสุขเสียได้กลายเป็น อุเบกขาคือวางเฉย คู่กับเอกตา ฌาน จัดเป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าไปไนรุปาวจรภูมิ
ฌานทั้ง 4 นี่แหละที่เชื่อกันว่า แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ได้บำเพ็ญเพียรฝึกปฏิบัติประสบความสำเร็จ และด้วยเหตุที่ปรากฏต่อมาว่า แม่ชีบุญเรือน มีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถจะเข้าวิปัสสนาเมื่อใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องยึดสิ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ทั้งอาจเข้าวิปัสสนาโดยลืมตาก็ได้โดยเร็วพลันด้วยเหตุนี้ ทางด้าน อรูปมาน ก็เชื่อว่าท่านสันทัดและบรรลุโดยลักษณะเดียวกัน ด้วยความสำเร็จใน จตุตถานนั่นเอง เป็นเหตุให้แม่ชีบุเรือน เป็นนักเสียสละชั้นยอด มีอารมณ์วางเฉย เป็น อุเบกชา สละความโลภ ความอยากได้ในทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นคนที่รู้จักแม่ชีบุญเรือนมาก่อนก็ดี หรือเพิ่งจะมารู้จักก็ดี จะทราบคติธรรมข้อหนึ่งว่า ” คนที่จะไปหาท่าน จงไปหาด้วยการเป็นผู้รับ ส่วนท่านเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้บริการ” ท่านไม่ต้องการสิ่งใดของใคร แม้แต่ดอกไม้ รูปเทียน ทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น
ในประวัติกล่าวกันว่า ท่านเป็นผู้หญิงที่ปฏิบัติธรรมจนสามารถเข้าถึง “นิโรธสมาบัติ” ได้ คำนี้แปลกใหม่ จึงได้รวบรวมความหมายของคำเอาไว้ด้วย
นิโรธสมาบัติ แปลว่า การเข้านิโรธ, การเข้าถึงความดับ หมายถึงการเข้าถึงความดับสัญญา และเวทนา ทั้งหมด ซึ่งสามารถดับได้ถึง 7 วัน เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติ เรียกย่อว่า เข้านิโรธ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
นิโรธสมาบัติ คือ การบรรลุฌานขั้นที่สุด คือ นิพพาน คือความดับสนิทของกิเลสาสวะสัมบูรณ์ สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่ถือว่า นิโรธสูงสุด คือ ให้สัญญากำหนดรู้เคล้าเคลียอารมณ์จนสมบูรณ์ ต้องรู้ หรือต้องให้สัญญาทำงานจนหมดจดสมบูรณ์ จึงชื่อว่ารู้แจ้งแทงทะลุ เป็นสัญญเวทยิตนิโรธ อันเป็นสภาพจิตที่บรรลุสูงสุด จะเหลือความไม่รู้หรือสัญญาทำงานไม่ครบสมบูรณ์ รู้ก็ไม่ใช่-ไม่รู้ก็ไม่เชิง นั้นไม่ได้ หมายถึง สัญญาทำงานกำหนดได้หมายรู้ อย่างเก่งเต็มสภาพ พ้น เนวสัญญา-นาสัญญา
รู้ ความเป็น นิโรธ ว่า กามาสวะดับสนิท ภวาสวะดับสนิท อวิชชาสวะดับสนิท (ดับสนิท ก็คือ นิโรธ) แต่ยังมีสิ่งที่เหลืออยู่ คือยังมีชีวิตเป็นๆนี้อยู่ มีอายตนะ ๖ ทำงาน รับรู้เป็นปกติตื่นเต็ม รับรู้อะไรต่ออะไรได้เป็นสามัญ
สัญญาเวทยิตนิโรธ จึงเป็นนิโรธในชีวิตสามัญคนเป็นๆมีอายตนะ ๖ ทำงานรับรู้ทุกทวารเป็นคนปกติธรรมดา เพราะดับกิเลสสาสวะได้หมดแล้ว ก็ดับสนิทหมดเลยตลอดไป ไม่ต้องนั่งหลับตาทำสมาธิ-ทำสมาบัติกันอีก เป็นการจบกิจสิ้นภาระ ไม่ต้องฝึก-ไม่ต้องศึกษาใดๆอีกแล้ว เสร็จกิจถาวรแล้ว
นั่นคือแม้จะเป็นนิโรธสมาบัติแท้ๆพระพุทธเจ้า ก็ยังตรัสว่า ยังอยู่ในสภาพที่มีอายตนะ หรือมีสิ่งที่ถูกรู้(อายตนะนอก) และเครื่องรับรู้(อายตนะใน) (จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๓๔๑)
…เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี (นี่คือ จบเป็นอรหันต์ มีสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วสัมบูรณ์)
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า…. ในญาณนี้ ไม่มีความกระวนกระวาย ชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะ และชนิดที่อาศัยอวิชชาสวะ
มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่ง อายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า…สัญญานี้ ว่างจากกามาสวะ สัญญานี้ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ และรู้ชัดว่า มี…ไม่ว่างอยู่ ก็คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้น อันยังมีอยู่ว่ามี
ฉะนั้น สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่เป็น นิโรธ ขั้นนิพพาน หมายถึง ความดับสนิทแท้ๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีอายตนะเป็นหนึ่งในอายตนะ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ กับ สัญญาเวทยิตนิโรธ นั่นเอง
สรุป ทั้ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทั้ง สัญญาเวทยิตนิโรธ ยังมี อายตนะ หรือยังมี เครื่องรับรู้ ทำงานอยู่ครบทั้ง ๖ ทวาร ไม่ใช่ดับทั้ง สัญญา-เวทนา อย่างพาซื่อ แล้วกลายเป็นคนนั่งหลับสนิทอยู่ในภวังค์ไม่รับรู้อะไรเลยทั้งภายนอก-ภายใน เพราะสัญญาก็ไม่ทำงาน เวทนาก็ไม่ทำงาน กลายเป็น อสัญญีแข็งทื่อ-ไม่รับรู้อะไรเลย ก็เหมือนก้อนดิน-ก้อนหิน ก้อนหนึ่ง นิโรธสมาบัติไม่ได้รวมอยู่ในสมาบัติ 8 สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4 ส่วนนิโรธสมาบัติ จะเรียกว่า สมาบัติ 9 ก็ได้ ซึ่งเป็นสมาบัติสูงสุด เกิดได้กับ พระอนาคามีกับพระอรหันต์เท่านั้น
วิธีเข้านิโรธสมาบัติตามหลักพระอภิธรรม อันดับแรกเข้าปฐมฌาน แล้วต่อจากนั้น เข้าปัจจเวกขณวิถีแล้วเลื่อนระดับฌานสลับกับปัจจเวกขณวิถีไปเรื่อย ๆ จนถึง อากิญจัญญายานตนอรูปฌาน (สมาบัติ 7) แล้วเข้าอธิฏฐานวิถี (คือ การทำบุรพกิจ 4 อย่าง) จากนั้นเข้าแนวสัญญานาสัญญายตนอรูปฌาน ขณะนั้น จิต เจตสิก และ จิตตชรูป ก็ดับลง ส่วนกัมมชรูป อุตุชรูป และ อาหารชรูป ยังคงดำรงอยู่ และ ดำเนินไปตามปกติ เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ได้อธิษฐานไว้แล้ว ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ การเข้านิโรธสมาบัติ ไม่ได้ดับ จิตตชรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดกาล ดับเพียงแค่จำนวนวันที่ทำอธิฏฐานวิถีไว้เท่านั้น ซึ่งไม่เกินอายุของอาหารรูปที่อยู่ในร่างกาย โดยมากก็ประมาณ 7 วัน ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถ้านานกว่านั้นอาจปรินิพพานได้ ถ้าน้อยกว่านั้น ทำได้บ่อย ๆ เช่น 1 นาที 1 ชั่วโมง 1 วัน ก็ไม่แปลกสำหรับผู้ได้ฌานนิโรธสมาบัติแล้ว