ศรีสะเกษ เที่ยวไหนดี ตามรอยนี้ แหล่งท่องเที่ยวน่าไป จัดสัก 2 คืน 3 วันเลยจ้า

ยุคนี้โลกเจริญไปมาก จีพีเอสเข้าถึงทุกแหล่ง บนถนนทุกสาย เปลี่ยนจากลูกรังสีแดงเป็นถนนดำ ทำให้เราเข้าถึงสถานที่อีกหลายแห่งที่ซ่อนตัวอยู่เพียงลำพัง  สำหรับคนที่โหยหาแก่นแท้ธรรมชาติ ความออร์แกนิคระดับจริงแท้ของผู้คน บรรพบุรุษยุคโบราณ ประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา แนะนำให้เที่ยวตามรอยทริป ASEAN CONNECT   ที่ สำนักงาน จ.ศรีสะเกษ เพิ่งจัดไปโดยเชิญ ข้าราชการ, พ่อค้า, ตัวแทนบริษัททัวร์ท่องเที่ยว ฯลฯ จากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาและสื่อมวลชนไปเยือน เพื่อเปิดเส้นทางปฐมฤกษ์ ได้สัมผัสอันซีนแห่งใหม่ พร้อมเรียนรู้ วัฒนธรรม ประเพณีสี่ชนเผ่า ฯลฯ ที่มีเฉพาะศรีสะเกษเท่านั้น

ทริปเดินทาง ASEAN CONNECT  แนะนำ สองคืนสามวัน เริ่มตั้งแต่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง   ไหว้ศาลหลักเมือง, นมัสการหลวงพ่อโต, วงเวียนแม่ศรี ทั้งสามแห่งเป็นระยะที่เดินถึง ก่อนออกนอกเมืองมา

 หนองตะเคียน เป็นวัดที่สร้างตามแบบผสมผสานศิลปะ ขอม – ล้านนา โดยช่างฝีมือ ระดับประเทศ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระศรีอริยเมตตรัย บริเวณข้างพระอุโบสถมีลานพระพุทธรูปปางสมาธิ 28 องค์ เป็นแนวรูปสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (มีหลักฐานเป็นบ่อน้ำขุดที่กล่าวกันว่าขุดเพื่อตั้งแรมและนำแหล่งน้ำมาดื่มกินในยุคนั้น) เพื่อประชาชนทั่วไปได้เคารพบูชา

ต่อมาไปสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ปราสาทสระกําแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ  ความเป็นมาของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัยใดหรือศักราชใด ถึงแม้จะพบจารึกที่โบราณสถานแห่งนี้ ข้อความในจารึกกล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายแก่เจ้านายผู้ล่วงลับคือ “กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร” ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างปี พ.ศ. 1585 ที่ปรากฏในจารึกไม่ใช่ปีที่สร้างปราสาท ระยะดังกล่าวในกัมพูชาเป็นสม้ยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ แต่มิได้หมายถึงพระองค์เป็นผู้สร้าง จากการศึกษาลาดลายต่างๆทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ปราสาทสระกำแพงใหญ่ น่าจะมีอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน หรือประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนปลาย

ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นศาสนสถานแบบเขมร ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อในการนับถือศาสนาจากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู โดยดูจากทับหลังที่สลักภาพบุคคลเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาฮินดู ภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้จึงเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธโดยได้ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ สูง 1.33 เมตร สภาพทั่วไปของปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย รวมทั้งหมด 6 หลัง

จากภาพถ่ายทางอากาศ ชี้ให้เห็นว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่น่าจะมีชุมชนรายรอบอย่างหนาแน่น ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เรียกว่า “สระกำแพง” สันนิษฐานว่าน่าจะขุดขึ้นเมื่อครั้งสร้างปราสาท ส่วนทางทิศตะวันออกมีลำห้วยเล็กๆไหลผ่าน คือ ห้วยตาเหมา ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่แยกออกมาจากห้วยสำราญ

ช่วงเย็นคล้อยไปที่นี่เลย เกาะกลางน้ำ ชมพระอาทิตย์ตกกลางเมือง เดิมสถานที่นี้เป็นป่าละเมาะและทุ่งนา เทศบาลเมืองศรีสะเกษได้พัฒนาเพื่อสร้างเป็น ศูนย์ประสานการท่องเที่ยวอีสานใต้ พัฒนาให้เป็นอ่างเก็บน้ำห้วยนำคำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนออกกำลังกายและกิจกรรมทางน้ำของประชาชน เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์แสดงพันธ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์

 

วันต่อมาที่พลาดไม่ได้ ตลาดวัฒนธรรม วัดสุพรรณหงส์ บ้านหว้าน (มีทุกเช้าวันอาทิตย์) หมู่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม  ร่วม ฟังเทศน์ ฟังธรรม ตักบาตรข้าวเหนียว ชม ชิม ซื้อ ในตลาดวัฒนธรรมโบราณ ตลาดประชารัฐ จะเห็นชาวบ้านแต่งกายแบบท้องถิ่น

สายๆ ไป วัดปราสาทเยอเหนือ (1 ใน 13 แห่งวัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จ.ศรีสะเกษ พระพุทธรูปและบานแกะสลักกว่า 1,500 ปี) วัดปราสาทเยอเหนือ ตั้งอยู่ในกิ่ง อ.ไพรบึง อายุประมาณ 200 กว่าปี สร้างขึ้นโดยชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเยอที่ได้รับอารยธรรมทางขอมมา ดังนั้น สิ่งก่อสร้างในวัดจึงคล้ายคลึงศิลปะแบบขอมโบราณผสมสมัยใหม่ โดยวัดมีความเจริญมากในสมัยที่หลวงพ่อมุมปกครองดูแล เพราะศรัทธาในวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ พูดน้อย แต่มีเมตตาสูงมาก อีกทั้ง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกฐินต้นในจังหวัด และวัดปราสาทเยอเหนือก็เป็นวัดแรกที่ทรงพระราชทานกฐินต้นอีกด้วยที่เด่นๆ แต่ก่อนคือ  หลวงพ่อมุม, ปราสาทหิน, ไหโบราณอายุราว 2000 ปี

ตอนนี้เพิ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ชุมชนเผ่าเยอ  ร่วมแรงร่วมใจ ถ้าไปวันเสาร์-อาทิตย์ มีไกด์ไทบ้านแนะนำ เที่ยวชุมชน ชมการทอผ้า เห็นการตกแต่งเครื่องประดับด้วยกระดุมเงิน ที่บ่งบอกถึงฐานะความร่ำรวย, การทำสุราพื้นบ้าน (เหล้าขาวภูมิปัญญาชาวบ้าน ถูกต้องตามกฏหมาย) แวะชิมกรึ่มๆ จะใช้เวลาอยู่หรือไปต่อก็ไม่มีใครว่ากัน

ช่วงบ่าย ลองเปลี่ยน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่อง หอม, กระเทียมดี (เช็คฤดูกาล ถ้าอยากเห็นหอมแดงๆ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ได้สัมผัสต้นและกลิ่นฉุนอยู่แล้ว)    สวนหอมแดงลุงละม้าย เทศบาลตำบลยางชุมน้อย   และ สวนลุงบุญมี กลุ่มข้าวเกษตรอินทรีย์ที่โด่งดังที่สุด (ขนาดนายกฯ นั่งฮ. มาดู) หรือแม้กระทั่งตรงดิ่งไปช้อปปิ้งเอง ณ  จุดผ่านแดนถาวร ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์  ใช้เวลาเดินทางเพียง 1.5 ชม. เป็นสินค้าเกษตรและงานศิลปะแบบขอม ฯลฯ สนนราคาถูกมากๆ ต่อได้อีก

วันที่สาม  มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติ ผามออีแดง  เนินนับดาว  ชมแสงแรกสามประเทศ ไทย กัมพูชา ลาว และ จุดสิ้นสุดแดนทางขึ้นเขาพระวิหาร   ไม่มีอะไรจะเก๋ไก๋ไปเท่า ณ จุดนี้ บนหน้าผาสุดทาง หมอกเรียงราย และเมื่อหมอกสลาย เห็นแสงแรกของสามประเทศอยู่รำไรๆ ตรงหน้า ตระการตา ภูผาตระหง่าน เติมความรู้สึกยิ่งใหญ่ฮึกเหิม อะไรฤาจะยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรมะ(ชาติ) สร้างสรรค์ สวยเกินบรรยาย ณ จุดนี้ (ไปให้ถึง 6 โมงเป็นต้นไป / กางเต๊นท์นอนได้ที่จุดบริการ )

สายๆ หากใครอยากช้อปปิ้ง เดินทางลงมาไม่ถึง 15 นาที จุดน่าแวะซื้อของฝากคือ  “กลุ่มทอผ้าขาวม้าพื้นเมือง” OTOP นวัตวิถี บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดดเด่นเรื่องผ้าขาวม้า, น้ำกลั่นบริสุทธิ์จากใบย่านาง (กำลังมีชื่อเสียง ส่งออกไปขายจังหวัดอื่นๆ ออร์เดอร์เพียบ) , สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ

แต่ถ้าอยากเห็นชุมชนเต็มๆ เข้มแข็ง เต็มรูปแบบ แวะมา หมู่บ้านนวัตวิถีโอทอป  บ้านโนนสว่าง อ.พายุห์ จ.ศรีสะเกษ  ชมกระบวนการทำหม่อนไหมที่นี่ (มีโรงหม่อนไหมแทบทุกครัวเรือน ขอชาวบ้านดูได้ / โรงเลี้ยงใหญ่สุด อยู่ด้านหน้าวัดเลย)-การแซวผ้าลูกแก้ว-ชมบ้านโบราณอายุกว่าร้อยปี (ไฮไลท์เลย มีคนเคยถ่ายรูปบ้านเปล่าๆ กลับไป ปรากฏติดลุงไม่ได้รับเชิญ คาดว่าเจ้าบ้านมาทักทาย *** เป็นความเชื่อส่วนบุคคล)  ฯลฯ

และไฮไลท์ใหม่ สะพานไม้ไผ่..ห้วยทา  ทอดยาวกลางผืนน้ำ รับลมชายทุ่งเต็มๆ  เสร็จแล้ว ใครจะแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ชุมชนก็ได้ ที่นี่เป็นอาหารท้องถิ่นแบบชาวลาว บางวัน ถ้าติดกับวันพระใหญ่ มีงานบายศรีสู่ขวัญให้ชมด้วย

ยามเย็นคล้อย แนะนำอีกที่ ไม่ไกลกัน  ตลาดชุมชนที่บ้านหนองสามขา อ.โนนคูณ เปิดเช็คอินจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ สะพานไม้ไผ่ทอดยาวกลางแอ่งน้ำ พร้อมชมการผลิตเครื่องจักรสาน นั่งเก้าอี้ชมบึงน้ำขนาดใหญ่รับพระอาทิตย์ตกของวัน ม่วนขั่กกลับชาวบ้าน และบรรดาผักผลไม้ราคาย่อมเยาว์ บางวันมีเด็กโชว์โดดน้ำ ขยันแจกทิปนิดๆ หน่อยๆ  เด็กน้อยๆ โดดตู้มๆๆๆ ได้อารมณ์อีกแบบ  

             ท้ายสุด คุณรณิดา เหลืองฐิติสกุล หัวหน้าสำนักงาน ศรีสะเกษ เมืองท่องเที่ยวเมืองที่ต้องลองมาเที่ยวดูสักครั้ง  ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันน่าค้นหา แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ล่าสุดมีแหล่งท่องเที่ยวการเกษตร ซึ่งผลไม้ศรีสะเกษมาจากดินแดงภูเขาไฟ เต็มไปด้วยแร่ธาตุกำมะถัน ให้รสชาติดี    น่าลิ้มลอง รวมถึงผู้คนน่ารัก เรียบง่าย จังหวัดของพวกเราอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่สูงแล้วค่อยลาดต่ำไปทางเหนือลงสู่ลุ่มแม่น้ำมูลทางตอนเหนือของจังหวัด ทิศเหนือติดกับและทิศตะวันออกติดกับอุบลราชธานี ทิศตะวันตกติดอยู่กับสุรินทร์และร้อยเอ็ด ความพิเศษอยู่ตรงทิศใต้อาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา  หนึ่งในสิ่งที่พวกเราชาวศรีนครลำดวนภูมิใจคือบ้านของเรามีหลักฐานตั้งถิ่นอาศัยมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ก่อนจะมีการใช้ตัวอักษรหรือภาษาเขียนจารึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เสียอีก แล้วยังปรากฏร่องรอยชุมชนยุคเหล็ก, ชุมชนโบราณในเขตอำเภอราษีไศลก็ปรากฏหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้รับการฝังพร้อมวัตถุอุทิศที่ทำด้วยเหล็ก, ภาชนะดินเผา สมัยต่อมาสัก 1,400-1,200 ปี มีพัฒนาการจารึกตัวอักษร, ภาษาเขียน, การวางผังเมืองอย่างเป็นระบบโดยการขุดคูน้ำและคันดินล้อมรอบเมืองเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ยังมีหลักฐานอยู่ในเขตอำเภอราษีไศลและเมืองโบราณโคกขัณฑ์ในตัวอำเภอขุขันธ์จนถึงปัจจุบัน เห็นได้ว่าศรีสะเกษเปี่ยมด้วยเรื่องราวน่าสนใจ เจริญด้านสังคม ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความอุดมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความร่ำรวยทางวิถีวัฒนธรรม หรือความพรั่งพร้อมด้านการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ ห่างจากกรุงเทพฯ โดยระยะทางเพียง 517 กิโลเมตร