เมื่อหน่อไม้เป็นสินค้าล้นตลาด บวกกับฝีมือปรุงรสแซ่บถึงเครื่องระดับชาวบ้าน อีกทั้งวัตถุดิบการันตีความเป็นเกษตรอินทรีย์เกินร้อย ทุกการซด สามารถมั่นใจ ต่อมรับรสพาลจินตนาการไปถึงวิถีพื้นบ้านได้เพียงซดไปไม่กี่ช้อน!! ไม่ได้พูดเกินจริงสำหรับ นางจารุณี เสนารัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ “แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป” ไม่ใส่ผงชูรส แซ่บถึงเครื่อง ภายใต้แบรนด์ ”ภูฟาร์ม” ที่เพิ่งคว้ารางวัลโปรดักซ์แชมเปี้ยนปี 2019 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาครอง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้แก่ หน่อไม้ดอง หน่อไม้กิมซุงอบแห้ง เผยว่า
สำหรับ Product Champions 2019 ที่ผ่านการคัดเลือกจาก ม.ขอนแก่น พิจารณาถึงความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในพื้นที่จังหวัดตนเอง การมีศักยภาพที่จะสามารถทำตลาดนอกพื้นที่เช่นในจังหวัดอื่นๆ หรือในต่างประเทศด้วย ที่สำคัญจะต้องเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญของชุมชน มีคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในมิติต่างๆ เช่น ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่มีการผลิตขึ้นโดยคนในชุมชน หรือมีการจ้างงานคนในชุมชนเข้ามาร่วมในส่วนของการผลิต รวมถึงการที่กระจายงานหลายๆ ส่วนไปให้ชุมชนช่วยกันทำ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกให้ได้ Product Champions ของ ม.ขอนแก่น ครั้งนี้คือ คือ “แกงหน่อไม้สำเร็จรูป” ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรรุ่นใหม่อำเภอนามา จังหวัดกาฬสินธุ์
แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ภูฟาร์ม เป็นสินค้าพร้อมปรุง หรือพร้อมแกง ประกอบไปด้วย หน่อไม้ เห็ดหูหนู ผัก เครื่องปรุง รวมอยู่ในซองเดียว รสชาติเข้มข้นถึงเครื่องแกงหน่อไม้ สูตรอีสานโดยแท้ ไม่ใส่ผงชูรส สินค้ามีตราอย. รับรอง มีความพร้อมในการส่งออก จัดหาวัตถุดิบจากกลุ่มสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสินธุ์สนุก ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร อีกทั้งวัตถุดิบหลักที่ใช้ สามารถปลูกได้ในท้องถิ่น และมีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตเพื่อส่งออก วัตถุดิบที่ใช้ผ่านการรับรองอินทรีย์ออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งสินค้าตัวนี้จารุณีเล่าว่า ได้แรงบันดาลใจสร้างโปรดักซ์มาจากการที่สวนของเธอปลูกผักนานาชนิด เช่น หน่อไม้ ขิง ข่า ตะไคร้ ชะอม ใบหญ้านาง ฯลฯ จึงร่วมตัวกันระหว่างกลุ่มทำเกษตรกรอินทรีย์ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2558 จำนวน 15 ครัวเรือน ปัจจุบันขยับจำนวนมาที่ 25 คน 20 ครัวเรือน ปลูกพืชผักและหน่อไม้บนพื้นที่ของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันนับ 200 ไร่ โดยมีหน่อไม้เป็นสินค้าไฮไลต์ของกลุ่ม
เมื่อหน่อไม้สดเริ่มล้นตลาด จารุณีจึงคิดแปรรูปหน่อไม้ กลายเป็น “หน่อไม้ดอง” พันธุ์กิมซุง แต่ข้อเสียของการดองด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อให้ลูกหลานที่อยู่ไกลบ้านได้รับประทานอยู่ไม่ได้นาน จึงเปลี่ยนวิธีการถนอมอาหารด้วยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านตากแห้งหน่อไม้ก่อนสามารถเก็บได้นาน 2-3 เดือนซึ่งก็ยังเก็บไม่นานพอ จึงนำเรื่องไปปรึกษากับม.ขอนแก่น สสว.และอุตสาหกรรมภาค 5 ขอนแก่น พัฒนาแนะนำในการหน่อไม้ดองให้เก็บได้นานขึ้น ด้วยการต้มให้สุกก่อนนำมาตากแห้ง จึงเก็บได้นานขึ้น และแปรรูปเป็นแกงหน่อไม้โดยใส่ “ผงนัว” คือเครื่องปรุงของแกงหน่อไม้ในท้องถิ่นและหาได้ในสวนของชาวบ้านทั้งหมด แต่แปรรูปให้มีความแห่ง กลายเป็นผลิตภัณฑ์แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน และเก็บได้นานเป็นปีโดยได้รับคำแนะนำจากศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ของม.ขอนแก่นให้ใช้นวัตกรรม “โซล่าโดม” ในการตากหน่อไม้ในโซล่าโดม ที่จะเป็นตัวนี้ช่วยเก็บเนื้อของหน่อไม้ให้สวย ในการตากไม่มีเชื้อรา
ความอร่อยนอกจากเลือกหน่อไม้สุกพอดีแล้ว การทำผงนัวให้อร่อยเคล็ดลับคือการใส่ใบหม่อนทำให้รสชาติกลมกล่อมเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งผงนัวก็เป็นส่วนผสมของสมุนไพรไทยนำมาตากแห้งทำเป็นพริกแกง
ส่วนหน่อไม้ตากแห้งหั่นฝอยเก็บได้ 3-4 เดือนด้วยการวิธีการซีนที่ฝาทำให้เก็บได้นาน 1 ปี พัฒนาสินค้าเริ่มทำโครงการพัฒนา 2560 จนถึงปีนี้ ใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนา รายได้เปลี่ยนจากเดิม 300-400 บาทต่อวัน เป็น 2หมื่นถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือน และสามารถจำหน่ายได้นอกฤดูกาล สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ และชักชวนกันปลูกหน่อไม้แบบเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาตรฐานออแกนิคไทยแลนด์ ตอนนี้มีพื้นประมาณ 200 ไร่ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มยังมีเงินปันผล และมีการประกันราคาหน่อไม้สดด้วย
“ เราอยากพัฒนาตัวสินค้าตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ ต้นน้ำคือต้องทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ ผลิตปุ๋ยเอง กลางน้ำความต้องการของลูกค้าก็จะมีมากถ้าเขามั่นใจสินค้า ปลายน้ำคือเราตัวแทนกระจายสินค้าได้ เราตั้งใจจะส่งออกได้ด้วย เพราะเรามีลูกหลานไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คนไกลบ้านกินแล้วก็หายคิดถึงบ้าน ตอนนี้เราอยากพัฒนาสินค้าจากใส่ปลาร้าในผงนัว เป็นใช้เต้าหู้แทนเพื่อคนกินเจจะได้กินได้ เราพุ่งเป้าไปที่คนไทยในต่างแดน ”
สิ่งที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็งแรงได้คือฟันฝ่าอุปสรรคการทำงานกับคน ต้องคิดบวกตลอด แม้ระยะแรกชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยกับการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เธอต้องลบคำสบประมาทให้ได้ โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวมารวมกลุ่มกันก่อน เพื่อให้ชาวบ้านเห็น อีกทั้งต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ต้องเข้มแข็ง เพียรพยายาม โฟกัสที่สินค้าใดสินค้าหนึ่งก่อน
ใครได้ลอง แซ่บถึงใจ!! อนึ่ง วิสาหกิจชุมชน คือ การรวมกลุ่มของชุมชน จัดทำสินค้า เพิ่มรายได้ การออกร้านกับหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นการเปิดตลาด ผู้สนใจสามารถเข้าเฟสบุ๊คไปสั่งสินค้าได้ตามชื่อนี้ หรือผู้สนใจ อยากนำสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ ติดต่อทางกลุ่มโดยตรงจะดีใจมาก ถือว่าได้อุดหนุนชาวบ้านด้วยค่ะ