พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ “Four Royal Orchestral Suites for His Majesty King Rama X” เนื่องในโอกาส
มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งนิพนธ์และอำนวยการโดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา บรรเลงโดยวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ที่ผ่านมา ณ โรงละครแห่งชาติ
โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ภริยา รศ.นราพร จันทร์โอชา, อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และภริยา รัชดา คุณปลื้ม รวมทั้งคณะกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ได้แก่ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า และประธาน บี.กริม. , นวลพรรณ ลำซ่ำ , นันทินี แทนเนอร์ ,คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เฝ้าฯรับเสด็จ
ภายในงานมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เป็นจำนวนมาก อาทิ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ,มิสซิสเอว่า มาริยา ดิกลี้ อัลบีซี ,ชวน หลีกภัย ,ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ , ท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์, ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล , ม.ล.จิราธร จิรประวัติ , ครอบครัวมหากิจศิริ นำโดย ประยุทธ-สุวิมล ,อุษณีย์ มหากิจศิริ ณีโอณีโอ, เฉลิมชัย มหากิจศิริ, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, พาสินี ลิ่มอติบูลย์ ,สมชัย ส่งวัฒนา, ชนะชัย ส่งวัฒนา, บุปผา-กอบชัย กิ่งชัชวาลย์ , จิตติมา วรรธนะสิน , อติชาต รักษะจิตร , เกรซ มหาดำรงค์กุล ,นาวาอากาศเอกจงเจต วัชรานันท์ , พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา , พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ฯลฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์อุปภัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า กราบบังคมทูลรายงานก่อนการแสดงคอนเสิร์ตบางตอนว่า “ความทรงจำที่ยังคงแจ่มชัดในใจตราบจนทุกวันนี้ แรงบันดาลใจสำคัญของข้าพระพุทธเจ้าคือทูลกระหม่อมปู่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางด้านดนตรีและพระปรีชาสามารถทั้งในดนตรีแจ๊สและดนตรีคลาสสิคเป็นที่ยอมรับและยกย่องไปทั่วโลก พระจริยวัตรของทูลกระหม่อมปู่ได้ถ่ายทอดมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมาชิกในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เติบโตมาท่ามกลางดนตรี ได้เรียนรู้และรักดนตรีทั้งได้ตระหนักซาบซึ้งในคุณค่าของดนตรีเป็นอย่างมาก ดนตรีนั้นทำให้ทุกคนมีความสุข มีความนุ่นนวล ความอ่อนโยนในจิตใจ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ข้าพระพุทธเจ้ายังคงรำลึกถึงในพระกรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมปู่เสมอ ที่ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยรักดนตรี และร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะแขนงนี้ไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศชาติสืบไป …”
ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระอัจฉริยภาพ
ด้านดนตรีและสนพระทัยในดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยปัจจุบันทรงเป็นองค์อุปภัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า และวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra) หรือ RBSO ทั้งยังทรงประพันธ์เพลงให้วงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ถวายงานในแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ SIRIVANNAAVARI อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา การแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ ประกอบด้วย ๔ บทเพลงพระนิพนธ์ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ในการแสดงแฟชั่นโชว์แบรนด์ SIRIVANNAVARI ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ถึงปี ๒๕๖๒ นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเครื่องดนตรีขึ้นใหม่มีชื่อว่า รีฟอร์ม (Reform) เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงแบบเพอร์คัสชั่น โดยการแสดงในภาคแรก ๒ บทเพลงได้แก่ Adobe of Metamorphosis และ The Story About “Horse, Helen, Henry” ใช้เวลาประมาณ ๓๕ นาที และในภาคสอง ได้แก่ Lost in Mystical Garden และบทเพลง Serenity ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีคอรัสร่วมด้วย ๘๐-๑๐๐ คน โดยมีนักร้องเสียงโซปราโน่ คือ รัดเกล้า อามระดิษ มาร่วมขับร้อง พร้อมทั้งมี เบส บาริโทน โดย กิตตินันท์ ชินสำราญ มาร้องในพาร์ทโซโล่”
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวต่อว่า “คอนเสิร์ตครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นการแสดงถวายทูลกระหม่อมพ่อของพระองค์ โดยทรงเอาพระทัยใส่และทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทรงมาควบคุมการซ้อม การบันทึกเสียง และทอดพระเนตรการแสดงด้วยพระองค์เองทุกครั้ง ทรงร่วมงานกับนักดนตรีและผู้อำนวยการเพลงเฉกเช่นคนธรรมดา ทรงเป็นกันเองและมีพระเมตตากับนักดนตรีมากๆ บรรยากาศการทรงงานจึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนแสดงความสามารถของตัวเองออกมาได้ โดยไม่เกร็ง ทั้งยังสามารถเสนอความคิดเห็นได้ และพระองค์ทรงรับฟัง ทรงวิเคราะห์ โดยทรงตัดสินพระทัยว่าควรหรือไม่ควร”
ทั้งนี้ในฐานะองค์อุปภัมภ์มูลนิธิฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานแนวทางการดำเนินงานของวงไว้ว่า ทรงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาและยกระดับวงดุริยางค์ซิมโฟนี ให้ทัดเทียมกับวงออร์เคสตร้าชั้นนำของโลกโดยทรงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียแปซิฟิก และขั้นต่อไปคือ ต้องทัดเทียมระดับ A ของวงในยุโรปให้ได้ ทรงตั้งพระทัยด้วยการพัฒนานักดนตรีผ่านการฝึกซ้อมและการแสดง จึงมีพระดำริให้จัดคอนเสิร์ตเดือนละ ๓ โปรแกรม รวมถึงการคัดเลือกวาทยกรชาวต่างชาติมากฝีมือมาร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้นักดนตรีฝึกเกลาฝีมือเพิ่มขีดความสามารถไปอีกขั้น ซึ่งพระปณิธานของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ถึงความทุ่มเทและความใส่พระทัยแก่วงอย่างแท้จริง