กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อจัดทำคู่มือเกี่ยวกับนวัตกรรม แนวทางเพื่อการพัฒนาทำสื่อต่อไปโดยมี คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อ เข้าร่วม พร้อมด้วยเหล่าวิทยาการ คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์, คุณปฐม อินทโรดม, คุณสุวิตา จรัญวงศ์ , ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต, คุณสุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์, ดร.อริสรา กำธรเจริญ (วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์)
คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า ด้วยองค์ประกอบของระบบนิเวศสื่อในปัจจุบันมีความหลากหลายของเนื้อหาที่มาจากกลุ่มผู้ใช้สื่อทุกประเภท มีการใช้ช่องทางในการเผยแพร่ สื่อสารเนื้อหาหลาย ๆ แบบให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับตามพฤติกรรมการบริโภคเฉพาะบุคคล ภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การสร้างองค์ความรู้ที่ร่วมสมัยภายใต้สภาพสังคมในยุคดิจิทัลที่ซับซ้อน จึงมีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาและการสร้างสรรค์เนื้อหาสื่อในปัจจุบัน และเพื่อก้าวให้เท่าทันสื่อที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนิยาม ค้นหา และพัฒนาองค์ความรู้ โดยร่วมให้ความเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ เพื่อจัดทำคู่มือเกี่ยวกับ “นวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สรุปประเด็นสำคัญจากงานเสวนาเพื่อจัดทำคู่มือ “นวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม
Digital Transformation โดย หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
คุณหนุ่ยเริ่มต้นพูดถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสื่อให้ทันสมัยและตอบโจทย์ของผู้ชมออนไลน์ โดยเน้นการเล่าเรื่องแบบ “Digital Story Telling” ซึ่งเป็นการหาวิธีการเล่าใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่ที่มาฉากรายการ หรือกระบวนการรุงรังเฉกเช่นการผลิตรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน เพื่อทำให้คนดูได้รับอรรถรสในการรับชมเสมือนว่ากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ และเน้นการทำสื่อให้ปลอดภัยโดยการงดการใช้คำหยาบคาย และเปลี่ยนไปใช้พาดหัวที่น่าสนใจแต่ไม่บิดเบือนความจริง รวมไปถึงการตั้งเงื่อนไขการโฆษณาที่เป็นมิตรกับผู้ชม กล่าวคือเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งสองด้านนั่นเอง
Internet of Things (IOT) โดย คุณปฐม อินทโรดม
หลังจากนั้น คุณปฐมก็ได้ขึ้นมาพูดต่อเนื่องจากประเด็นก่อน โดยพูดถึงการมีอยู่ของ IoT ว่าในปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากกว่า 200 ล้านชิ้นทั่วโลก โดยคนเราเฉลี่ยมีอุปกรณ์คนละ 5 ชิ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปเป็น 250 ล้านชิ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน IoT จะทำให้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในระบบของการพัฒนา 5G IoT เนื่องมาจากนิยามของ IoT นั่นก็คืออุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น จนกระทั่งพัฒนาเป็นระบบ Big Data ที่คอยจัดเก็บข้อมูลและส่งผลให้เกิด AI เพื่อที่จะมาช่วยเลือกใช้และวิเคราะห์ข้อมูลต่อนั่นเอง
นอกจากนั้น คุณปฐมยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นการปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคที่เกิด Digital Disruptive ในสังคมไทย โดยจำเป็นต้องประยุกต์คณะที่เรียนกับสิ่งที่ IoT มีอยู่ให้ผสมผสานและลบจุดด้อยลงได้ด้วยนั่นเอง
Media Innovation โดย คุณสุวิตา จรัญวงศ์
คุณสุวิตาได้ขึ้นมาพูดถึงเรื่องราวของแพลตฟอร์มในการพัฒนาสู่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกล่าวว่าสื่อมีพลังที่มหาศาลและส่งผลต่อการชี้นำสังคมได้อยู่เสมอ โดยขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าอยากจะพัฒนาให้สื่อดีขึ้นหรือไม่? และในปัจจุบันสื่อก็ยังถูก Disruption ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือจำนวน Fake News ที่มากขึ้น จนอาจจะลุกลามเป็นปัญหาสังคมได้
นอกจากนั้นยังพูดถึงแพลตฟอร์มค้นหาอินฟูลเอนเซอร์ว่าในปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ โดยการร่วมมือทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับสังคม โดยในปัจจุบันร้อยละ 30 จากรายได้มาจากโครงการเพื่อสังคม และยังส่งผลให้เกิดการพูดคุยกันสูงกว่าโครงการที่เป็นเชิงพาณิชย์มากถึงร้อยละ 57 เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีโครงการ G-Power สำหรับนักศึกษา นิสิตในคณะนิเทศศาสตร์ โดยในปีที่ผ่านมามีการดำเนินการ Workshop และค้นพบว่านักศึกษา นิสิตสนใจเรื่องราวของข่าวปลอมเป็นอันดับ 1 และรองลงมาคือเรื่องของการทุจริตเป็นอันดับที่ 2
แนวทางการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต – ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
อาจารย์วรัชญ์ได้ให้แนวทางในการนิยามคำว่า “นวัตกรรมสื่อ” ไว้ว่าเป็นสื่อที่เกิดจากการสร้างสรรคืขึ้นมาใหม่ หรือเกิดจากการต่อยอด ซึ่งต้องมีคุณค่า สร้างสังคมคุณภาพและเข้าถึงประชาชนได้ นอกจากนั้นยังกำหนดแนวทางในการสร้างกลุ่มนวัตกรรมสื่อว่าจำเป็นที่จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถส่งเสริมและขับเคลื่อนให้สามารถผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ รวมไปถึงเข้าถึงประชาชนได้อย่างตรงเป้าหมาย
คณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมไปถึงให้กำลังใจด้วยการมอบรางวัลและสร้างกระบวนการความเข้าใจที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมสื่อ ซึ่งในปีนี้มางานประกาศรางวัลที่มีรางวัลนวัตกรรมสื่อโดยคณะอุนกรรมการฯ ทั้งหมด 2 เวที ได้แก่โทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 34 และรางวัล National Innovation Award โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในการร่วมให้รางวัลนี้
คุณสุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ – รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
คุณสุรเชษฐ์ได้พูดถึงสื่อในปัจจุบันว่า ทุกสื่อนอกจากที่จะต้องเน้นเทคโนโลยีแล้ว ที่สำคัญก็คือต้องติดตามผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคจะตอบโจทย์ว่าต้องการหรือเข้าได้กับเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้ยกตัวอย่างถึงอดีตที่มีหนังสือพิมพ์วางแผงทั่วไป ผู้บริโภคก็สามารถซื้อเพื่อมาอ่านได้ แต่หลังจากการมีรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งใช้กลยุทธ์การเล่าข่าวจากหนังสือพิมพ์ ก็ส่งผลให้การรับสื่อเปลี่ยนแปลงไปเลย
เฉกเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ที่ในอดีตจะเป็นลักษณะเพียงจอเดียว โรงภาพยนตร์ก็ขาดการดูแลรักษา แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้กลายเป็น Multiplex มีหลายจอและมีภาพยนตร์ที่หลากหลาย ซึ่งเชื่อมโยงกับสื่อในปัจจุบันด้วยว่านอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว ยังจำเป็นต้องทำให้เกิดแรงดึงดูดในการรับชมอีกด้วย
สำหรับข้อมูลและความคิดเห็นทั้งหมดจะนำมาจัดทำร่างคู่มือเกี่ยวกับ “นวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คืออะไร ???
กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งที่สำคัญ ก็คือ การส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพื่อให้ภารกิจของกองทุนฯ สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ ในการดำเนินการ ออกแบบ กำหนดแนวทางหรือแนวนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างนวัตกรรมสื่อให้เกิดมิติใหม่ ๆ ในการพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อระบบนิเวศสื่อในระยะยาว