ด้วยพระอัจฉริยภาพและความสนพระทัยด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเกิดประโยชน์กับสังคมไทย ทั้งในเมืองและชนบทที่ห่างไกล จึงทรงมีพระดำริพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563) โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร (7 ปี 2 ปริญญา) เพื่อการศึกษาการแพทย์แห่งอนาคต ก้าวขึ้นสู่ “The Futuristic Medical Education” รับมือไวรัสโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) เผยถึงการแพทย์ยุคใหม่ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปรับตัวรับมือกับโรคอุบัติใหม่ นำมาสู่การค้นคิดและร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของ ววจ.
“คุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์ ข้อแรกคือการบ่มเพาะให้เขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น สองต้องพร้อมรับในความเปลี่ยนแปลง สามรู้จัก คิด วิเคราะห์เป็นระบบ รู้จักการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ ข้อสุดท้าย สิ่งสำคัญที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ต้องมีคือ ความร่วมมือระหว่างวิชาชีพเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์หาตัวยาใหม่ ๆ มารักษาโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้น ”
พระวิสัยทัศน์และพระปณิธานฯ ร่างหลักสูตรแพทย์ 7 ปี
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงมีพระประสงค์ที่จะยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย พร้อมทั้งทรงมีพระดำริให้ดำเนินการพัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” ให้เป็น “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ครบวงจร โดยเสด็จสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและการแพทย์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้วิทยาลัยฯแห่งนี้ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์สาธารณสุข ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัยผสมผสานงานวิจัยอยู่ในการศึกษาวิชาต่างๆ โดยได้เสด็จประสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นอกจากจะเป็นแพทย์ที่มีทักษะทางวิชาชีพที่เป็นเลิศ มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วยังต้องเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัย รู้จักกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นแพทย์แห่งอนาคต
หลักสูตรแพทย์แนวใหม่นี้ใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกไปแล้วจำนวน 32 คน ในปี พ.ศ.2563
นอกจากนี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังเปิดสอน คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2563 สร้างวิชาชีพสัตวแพทย์เพื่อเติมเต็มองค์ประกอบของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) หมายถึง สุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนชาวไทย
ถอดบทเรียนโควิด 19
ก้าวสู่ ‘เมดิคอล ซีเคียวริตี้’ สร้างความมั่นคงทางการแพทย์
สถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นคีย์เลิร์นนิ่งสำหรับสังคมและประเทศไทย ทำให้รู้ว่า ประเทศไทยมีของดีซ่อนอยู่ เช่น ระบบพื้นฐานสาธารณสุขไทย และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านของเราเข้มแข็งมาก ถือเป็นตัวช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ แต่มีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุง และปรับตัวให้ดีขึ้น เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่แย่กว่านี้หากโรคระบาดกลับมาใหม่และหากอยู่กับเราเป็นระยะเวลานาน คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว กระบวนการสาธารณสุขต้องเฝ้าระวัง สามารถติดตามคนที่ต้องสงสัยมาตรวจได้ จะรักษาหรือกักตัวไว้ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การระบาดไม่แพร่หลาย
“ ในมุมมองผมแพทย์เก่งระดับเดียวกันทั่วโลก แต่สิ่งที่คนไทยดีกว่า คือระบบสาธารณสุขและเรามีอาสามัครชุมชนในหมู่บ้านซึ่งต่างประเทศไม่มี จึงทำให้ควบคุมได้ พอโลกเราเกิดโรคติดต่อ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีคนเก่ง และทำศึกษาวิจัยเรื่องโรคระบาดเยอะมาก แต่กระจัดกระจายไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ต่างคนต่างทำงาน ต่อไปเราควรมีแนวคิดการทำงานด้วยการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในโลกอนาคต ความร่วมมือมีความสำคัญ โฟกัสในการที่จะทำอะไรร่วมกันให้ได้ ข้อดีของคนไทย รัฐบาลมีมาตรการรวดเร็ว คนไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราต้องให้ความรู้ประชาชนด้านพื้นฐานความรู้ การให้ความรู้ความเข้าใจ เราต้องสื่อกันด้วยเหตุผลว่า ทำไมต้องใส่หน้ากาก ทำไมต้องล้างมือ การสร้างระยะห่างเพื่ออะไร ”
กรณีศึกษาโรคโควิด 19 โรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีคำแนะนำในตำราในการรักษาโรค ประการสำคัญที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนา คือ การเก็บข้อมูล การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การเตรียมความพร้อม และวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้วิเคราะห์การแพร่ระบาดในเมืองไทย
“ ถ้าดูตัวเลขการระบาดจากประเทศต่างๆ จะแตกต่างกัน อุณหภูมิไม่ได้เป็นตัวชี้วัดทำให้เชื้อโรคตาย บางประเทศพบเชื้อโรคน้อย การแพร่ระบาด อัตราการเสียชีวิตต่ำ อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ สุขลักษณะ เช่น ญี่ปุ่นประชากรนั่งรถไฟฟ้าหนาแน่น แต่การแพร่ระบาดน้อย หรือเป็นเพราะคนญี่ปุ่นใส่หน้ากากอนามัย ไม่พูดคุยกัน ส่วนใหญ่นั่งอ่านหนังสือ แต่ที่ประเทศจีนมีตลาดสด ร้านภัตตาคาร ผู้คนเดินกันพลุกพล่าน มีการพูดคุยกัน อยู่กันอย่างแออัด อากาศไม่หมุนเวียน ซึ่งเรายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุแน่ชัด หรือเพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน นิยมอาบน้ำ สระผม แตกต่างจากฝั่งยุโรปซึ่งเป็นเมืองหนาว ไม่นิยมชำระล้างร่างกาย รองเท้าก็ใส่เข้าบ้านหรือไม่ นี่เป็นข้อสมมุติฐาน เราต้องมีการวิจัยอย่างดี อย่างมีแบบแผน มีข้อเปรียบเทียบ สิ่งที่เราต้องทำคือการคิด วิเคราะห์ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล หาข้ออธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ให้ได้ ” ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) กล่าว
พัฒนาหลักสูตร คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ได้ชี้แจงรายละเอียดของ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ( 7 ปี 2 ปริญญา) ว่า “ คือการบูรณาการความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน โดยหลักสูตรได้พัฒนาทั้งวิธีการเรียนการสอน การประเมิน การติดตามผลที่มุ่งบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี และคิดค้นคว้านวัตกรรม พร้อมโอกาสที่จะได้เข้าร่วมศึกษาและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร โดยได้ยกระดับหลักสูตรการเรียนการสอนสู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง นักศึกษาแพทย์ที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร”
โดย คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือที่เรียกว่า The CRA Doctor คือการสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา ทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม แพทย์ที่มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับมาตรฐานแพทยสภาและมาตรฐานสากล WFME และต้องเป็นแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม โดยรู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รวมถึงรู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สนองต่อพระปณิธานองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563 ใช้ระยะเวลาศึกษา 7 ปี หรือ 14 ภาคการศึกษาระบบทวิภาค โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1: Early years เรียนที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วย
- Becoming a doctor การศึกษาวิชาทั่วไป และเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นแพทย์ โดยได้พัฒนาทักษะทางการแพทย์ และได้เริ่มเรียนรู้จากผู้ป่วยตั้งแต่ปีแรก
- : Fundamentals of clinical science I วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ I
- : Fundamentals of clinical science II วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ II
ระยะที่ 2: Research and Innovation ณ มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร
- 4: นักศึกษาจะได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติเรียนรู้กระบวนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเป็นระยะเวลา 1 ปีที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล : University College London (UCL) สหราชอาณาจักร โดยมี 23 สาขาที่หลากหลายให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามที่สนใจ อาทิ Cardiovascular Science, Clinical Sciences, Global Health, Mathematics, Computers and Medicine, Medical Anthropology, Medical Physics and Bioengineering, Oncology, Orthopaedic Science, Policy, Communications and Ethics, Primary Health Care, Psychology, History and Philosophy of Science and Medicine, Sport & Exercise Medical Sciences, Women’s Health
ระยะที่ 3: Later years เป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกและการฝึกทักษะทางคลินิก ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักของหลักสูตร และโรงพยาบาลสมทบในการเรียนการสอน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย
- Integrated Clinical Care I
- : Life Cycle, Mental Health, Integrated Clinical Care II
- : Externship and Preparation for Practice
“ การศึกษาการแพทย์แห่งอนาคต เพื่อก้าวขึ้นสู่ The Futuristic Medical Education นอกจากแพทย์ต้องมีความรู้ คิดวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคต่าง ๆ อย่างเป็นเลิศแล้ว คุณลักษณะสำคัญของแพทย์ คือ ต้องมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือมีความเมตตา สื่อสารด้วยแววตามากขึ้น มองลึกลงไปในแววตาคนไข้แบบนี้รู้สึกอย่างไร คนไข้ทุกข์อย่างไร และช่วยให้คนไข้ให้พ้นทุกข์ได้ ” ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) กล่าวทิ้งท้าย