ทุกครั้งที่เจอวิกฤติจะต้องมีการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ระยะหลังบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการสร้าง “นวัตกรรม” โดยที่ตั้งโจทย์เพิ่มเติมเพื่อท้าทายเหล่านวัตกรรุ่นใหม่ต่อไปว่าต้องเป็นอะไรที่ยั่งยืน คำว่า นวัตกรรมแบบยั่งยืน หมายความว่า ทันต่อการแก้ปัญหาในปัจจุบัน และถ้ามันเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็สามารถรับมือได้
แนวคิดดังกล่าว ทำให้ CU Innovation Hub และ ThaiBev เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมโครงการ “TSX Sustainable Innovation Competition & Hackathon” หัวข้อ Disrupting Health & Wellness Experience in COVID-19 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนวัตกรที่สร้าง Impact ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อDisrupting Health & Wellness Experience in COVID-19 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนวัตกร ที่สามารถสร้างสรรค์งานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางสังคม องค์กร และหน่วยงานต่าง อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมครั้งนี้คาดว่าจะเป็นการรวมพล “ผู้นำรุ่นใหม่” ที่มีความสนใจแต่ละด้าน ทั้งธุรกิจการตลาด, การออกแบบ, เทคโนโลยี ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 80,000 บาท พร้อมประสบการณ์และเน็ตเวิร์คที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับจากกิจกรรมอีกเพียบ
อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์
“เราเป็นพาร์ทเนอร์กับไทยเบฟฯ ในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรม การสร้างสตาร์ทอัพ การสร้าง อีโคซิสเต็ม สำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ในด้านของการวิจัยและในด้านของนวัตกรรมเรื่องการเรียนการสอนของเราก็เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนอยู่แล้ว เราเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนแก่สังคมสูงที่สุด ของโลกทางด้าน THE Impact Rankings 2021งานนี้ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ประชาชนมีการรับรู้มากขึ้นว่า ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนวัตกรรมสำคัญอย่างไรและควรเริ่มจากอะไร?”
โมเดลสร้าง Start up ในอนาคต
ใช่ เราพยายามสร้าง Start up ตั้งแต่จุดแรกเลยว่า ปัญหาที่เขาพยายามแก้คืออะไร ปัญหาเหล่านั้นต้องแก้ปัญหาสังคมได้ และมันต้องมองไปในระยะยาวว่ามันต้องเป็น solution ที่เป็นที่ต้องการจริง และสามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ Start up ต้องเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาที่มีที่เป็นอยู่ ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยากทำส่วนประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนเชื่อถือในกิจการ ทำอย่างไรให้คนมาลงทุนกับเราอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไรให้พนักงานมาทำงานอย่างสบายใจ เราก็ต้องใส่ในเรื่องของการกำกับดูแลลงไป ถ้า Start up มีการใส่ความคิดเรื่องของการดูแลบนความยั่งยืน เขาก็จะมีหลักการในการยึด เมื่อสร้างกิจการขึ้นมา มันก็จะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ความท้าทายในยุคนี้ไม่มีอะไรหนีพ้น โควิด & ดิสทรับชั่น เป็นที่มาของโจทย์ในการแข่งขันครั้งนี้?
เพราะมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด ในช่วงโควิดจุฬาฯ ก็ได้มีนวัตกรรมเพื่อที่จะรับมือกับโควิดออกมาเยอะมาก เรามีตั้งแต่ คัดกรอง ป้องกัน รักษา ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องไหนที่ร้อนแรงเท่า กับเรื่องนี้อีกแล้ว เรามียอดผู้ติดเชื้อโควิดหนักมากประมาณ 20,000 รายต่อวัน มันก็เลยทำให้ ผู้จัดงานทุกฝ่ายรู้สึกว่า อยากได้ไอเดียจากท่านทั้งหลายว่ามองปัญหานี้กันอย่างไร และอาจจะมีไอเดียในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าปัจจุบัน
สำหรับความคาดหวังการประกวดครั้งนี้ เราอยากได้ไอเดียใหม่ เพราะเราอยู่กับนักวิจัยทั้งหลาย เรามองจากสิ่งที่เราประสบ เรามองว่ากิจกรรมครั้งนี้ มันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดมุมมอง เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ นักเรียนมัธยม นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัย มาช่วยนำเสนอไอเดีย นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้าง อิมแพคได้จริงๆ ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถ้ามีปัญหาอะไรใหม่ออกมาแล้วมันสามารถแก้ไขอะไรได้ดีกว่าเดิม ยกตัวอย่าง ถ้ามันมีระลอกต่อไป เราก็จะรับมือได้ดียิ่งขึ้น!!
ทัศนะส่วนตัวเกี่ยวกับ “นวัตกร” รุ่นใหม่ของไทย
ดิฉันว่าคนไทยเก่ง ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถคิดนวัตกรรมระดับโลกอย่างวัคซีนใบยาออกมาได้ คนไทยไม่แพ้ชาติไทยในโลกจริง สิ่งที่สำคัญคือเราต้องกำหนดโจทย์และเวลาให้ มองเป็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน เพราะเราเรียนกันมาแบบที่มีโจทย์ตลอดชีวิต ถ้ามีโจทย์คนไทยแก้ได้หมด บอกมาว่าเดทไลน์วันไหน แต่ตรงกันข้ามถ้าไม่มีโจทย์ให้ก็ไปไม่ถูก ไม่กำหนดเวลาให้ก็ไม่ทำ ก็ต้อง ขอยืมคำพูดของรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และเป็นนวัตกร ผู้ริเริ่มธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งท่านก็มีอิทธิพลกับความคิดของดิฉันอย่างยิ่ง ท่านบอกว่าคนไทยไปประกวดอะไร แข่งขันอะไร ก็ชนะทั้งนั้น ได้ที่หนึ่งที่สอง แต่พอประกวดกลับมาแล้ว เราทำไมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคนเหล่านั้นเลย
ด้วยโมเดลเดิม การทำงานวิจัย ถ้าเก็บบนหิ้ง มันก็จะอยู่บนหิ้ง เป็นผลงานตีพิมพ์ แต่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะนักวิจัยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นการเชื่อมต่อตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมากๆ จากงานวิจัยในห้องแล็บที่เสร็จแล้ว เอาออกมาทำให้เกิดประโยชน์ ต้องไปทำต่ออีกหลายขั้น ดังนั้นนักวิจัยส่วนใหญ่ไม่ไปต่อ เพราะได้ผลงานทางวิชาการแล้ว งานของเขาก็จบแล้ว แต่ถ้าผลงานนั้น สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากและยั่งยืน
ซึ่งทุกวันนี้ที่เราทำอยู่คือ วัคซีนใบยา ชุดตรวจว่องไว สเปรย์จับฝุ่น PM 2.5 สเปรย์ฉีดหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค เพื่อไม่ต้องใช้หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ทำให้เราสามารถใช้หน้ากากผ้าซ้ำได้ ช่วยลดขยะ ดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ปิ่นโตและน้องกระจก ที่นักวิจัยสร้างขึ้นมาเพื่อเอาหุ่นไปทดแทนบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโควิด พวกนี้ คือ นวัตกรรมที่ถูกผลักดันมาจากตัวงานวิจัย ต้องใส่ความพยายาม และต้องมีทีมมาช่วยกัน ในอดีตเราไม่ค่อยทำเรื่องพวกนี้ แต่ทุกวันนี้เราเริ่มทำ ทุกอย่างให้เป็นระบบและครบลูป
ท้ายสุดประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมงาน TSX Sustainable Innovation Competition & Hackathon จะได้รับ?
นี่คือโอกาสที่เราจะได้แสดงความคิดของเราในการแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาเสียงของเราอาจจะไปไม่ถึง แต่นี่คือโอกาส เป็นเวทีที่เสียงของคุณจะดังขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้เน็ตเวิร์ค ได้รู้จักกับคนอื่น ถ้ารู้จัก เน็ตเวิร์คที่ดีก็จะทำให้งานที่อยากทำในอนาคตมันใกล้ความจริง แล้วถ้าไม่ติดอะไร อยากบอกว่ามันหาเวทีได้ยากมากที่จะหาคนมารับฟังเรา ให้เราได้มีโอกาสเอ็กซ์เซอร์ไซส์ความคิด แล้วช่วยแนะนำให้ฟีดแบคว่าความคิดของเราเป็นอย่างไร ในเรื่องของทีมที่ชนะก็ยังมีโอกาสได้รับเงิน เอาไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยส่วนตัวก็มองว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญ
ล่าสุดโครงการ TSX Sustainable Innovation Competition & Hackathon ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 15 ทีม ประกอบด้วย 1. ทีม 2EN Resolution 2. ทีม Share Care 3. ทีม Impacted 4. ทีม baby crabs 5. ทีม ATTRA 6. ทีม BTOLD 7. ทีม เด็กมาหาไรทำ 8. ทีม Sinovid 9. ทีม TEAnity 10. ทีม อยากชนะบ้างhub 11. ทีม NOPANIC MASK 12. ทีม FPM 13. ทีม Re-invent 14. ทีม TPN 15. ทีม Mwittee จึงขอเชิญผู้สนใจทุกคน ร่วมลุ้นร่วมเชียร์และค้นหาสุดยอดนวัตกรไปด้วยกันได้ทางเว็บไซต์ https://bit.ly/3hbr7Xk ข้อมูลเพิ่มเติม info@thailandsustainability.com