สะพานข้ามยุค “digital buddy” สรรหาจิตอาสา Gen Z เทรนด์ทักษะดิจิตอลให้ผู้สูงวัย

ปรบมือให้กับกิจกรรมดีๆ โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ค โดยการสนับสนุนของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เปิดรับสมัครน้อง ๆ นักศึกษาหรือผู้จบใหม่ ร่วมสมัครคัดเลือกเป็น “digital buddy” ผู้ช่วยผู้สูงวัยอบรมทักษะทางดิจิทัล ชิงทุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยผู้สมัคร จะต้องนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับผู้สูงวัย ด้วยทักษะทางดิจิทัล ต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกร่วมกิจกรรม โดยโครงการฯ ได้เปิดรับนักศึกษาตัวแทนเยาวชนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี เพื่อเป็น “Digital Buddy” ของผู้สูงวัย เป็นหน่วยสนับสนุนร่วมบ่มเพาะจนเกิดต้นแบบที่เป็นองค์ความรู้กลับคืนสู่สังคม ซึ่งขณะนี้โครงการฯ เริ่มดำเนินการอบรมไปครึ่งทางแล้ว บรรดา “Digital Buddy”   ที่ได้รับเลือก อาทิ

นภัสมนต์ ศรีนครา มหาวิทยาลัยมหิดล

เกวลิน ศรีรู้ญา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร


วชิรวิทย์ หาสาฤทธิ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สิทธินนท์ เพชรเกลอ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์ เทเรซา

ลภนพร สกุลเก่งศึกษา วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ฯลฯ

ทำงานไปแล้วครึ่งทาง ต่างคนต่าง มุมมองมีประสบการณ์และความสนุกสนานในโครงการฯ ดังกล่าวมาแบ่งปันกัน

คำถามแรก แรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ของแต่ละคน?

นภัสมนต์ : ครั้งแรกที่เห็นโครงการฯ รู้สึกสนใจมากๆ เลยค่ะ เพราะส่วนตัวเองก็เคยมีประสบการณ์สอนคุณแม่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เลยเข้าใจในปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องการในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี แล้วยิ่งปัจจุบันนี้โลกก็เข้าสู่โลกดิจิตอลมากจึงปฏิเสธไม่ได้เลยเพราะสื่อต่างๆ จะเข้ามามีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกวัย เด็กๆ อย่างเราบังเอิญโตมากับมันพอดีก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก แต่พี่ๆ ผู้สูงอายุหลายท่านก็ไม่ได้เป็นแบบเราจนบางทีมันก็เกิดช่องว่างบางอย่าง ทำให้พวกเขาพลาดเรื่องการทำการเข้าใจเทคโนโลยีไปชั่วขณะ ครั้งแรกที่เห็นโครงการนี้จึงรู้สึกสนใจมากและอยากจะช่วยลดช่องว่างตรงนี้และเพิ่มโอกาสให้ทุกคนในวัยสูงวัยขึ้นไปแล้วได้สัมผัสและเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น แบบที่เราได้สัมผัสบ้างเพื่อให้พี่ๆ สูงวัยได้คุยกับลูกหลานรู้เรื่องมากขึ้นและยังก้าวตามโลกได้ทันตราบที่ใจเขาต้องการค่ะ

เกวลิน : คือการได้ช่วยเหลือพี่ๆ สูงวัย ให้รู้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นการสร้างรายได้

วชิรวิทย์ : แรงจูงใจ คือ เป็นนักศึกษาปี2แล้วอยากหาประสบการณ์กับการทำโครงการนอกมหาวิทยาลัย และแนวทางก็เป็นเรื่องท้าทายดีที่ได้ลองมาทำงานกับผู้สูงวัย อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และได้นำไปพัฒนาตัวเองในอนาคตครับ

สิทธินนท์ : อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ผ่านมาพั้นช์เคยร่วมงานกับคนที่อายุน้อยกว่า อายุเท่ากันและวัยทำงานทั่วไป แต่ก็มีประปรายบ้างที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มผู้สูงวัย พอเห็นโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์คพั้นช์เลยรีบสมัครเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และความรู้วิธีคิดใหม่ๆ ที่ได้จากกลุ่มคนต่างรุ่นครับ

ลภนพร : เนื่องจากดิฉันได้จบการศึกษาจากคณะสื่อดิจิทัล และคิดว่าความรู้ที่ตนเองมี อาจจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการจะเรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับสื่อโซเชียลได้ ดังนั้นเมื่อเห็นกิจกรรม ‘สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค’ บวกกับพึ่งเรียนจบ และยังไม่ได้ทำงานจึงคิดว่าตนเองมีเวลาที่จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และได้แบ่งปันเรื่องราวความรู้ที่ตนเองมีให้กับผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่

ส่วนตัวแต่ละคน มองว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์อย่างไร เข้ามาแล้วทำอะไรบ้าง ประทับใจตรงจุดไหนเป็นพิเศษ?

นภัสมนต์ : ส่วนตัวมองว่าตัวเองเป็นคนที่ทำกิจกรรมมาค่อนข้างเยอะค่ะ และส่วนใหญ่ก็ใช้เทคโนโลยีมาด้วยกันทั้งนั้น จึงคิดว่าตัวเองคลุกคลีและเคยปฏิบัติงานจริงกับสื่อเทคโนโลยีต่างๆ มามากพอที่จะส่งแชร์อะไรบางอย่างให้ผู้ที่สนใจเช่นกันได้ เข้ามาแล้วก็ทำหลายๆ อย่างค่ะ อย่างแรกเลยก็คือให้ความสบายใจ ให้ความรู้สึกเป็นกันเองกับพวกพี่ๆ และพยายามทำให้เขารู้สึกว่าอะไรๆ มันก็ง่ายไม่ได้ยากเหมือนที่เคยคิด เพื่อให้พวกเขาได้ลองลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจและสนใจจริงๆ ประทับใจในความเป็นกันเองของพวกพี่ๆ ทุกคนมากเลยค่ะ ส่วนตัวไม่เคยทำงานกับคนที่อายุ 50 ขึ้นไปแล้วมาก่อนเลยแอบกังวลบ้างก่อนเข้าโครงการ แต่พอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก็รู้สึกว่าพี่ๆ น่ารักเป็นกันเองกันมากๆ จึงทำให้เรารู้สึกสบายใจต่อกันและสามารถแชร์สิ่งต่างๆ หากันและกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

เกวลิน : โครงการนี้มีประโยชน์มากๆ ค่ะ ทำให้เราได้เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัย มาลงมือปฏิบัติงาน ต่อยอดให้ตัวเอง

วชิรวิทย์ : ส่วนตัวมองว่ามีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะเรื่องของการได้ฟังบรรยายจากวิทยากร เป็นการพัฒนาความรู้ ที่อาจจะเคยทำบ้างหรือเจออะไรใหม่ๆ สิ่งที่เห็นและรู้สึกคือทำให้เราได้กระตือรือร้น ตื่นตัวตลอดเวลา ที่ทีมผู้สูงวัยถาม บางคำถามเราก็ตอบไม่ได้ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ได้ทบทวนและเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่สำคัญสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้สูงวัย และได้เห็นความแตกต่างและการยอมรับและพร้อมเปลี่ยนแปลงให้กับพวกเขาอีกด้วยนอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเราได้ฝึกกระบวนการคิด กระบวนการสื่อสารมากขึ้นที่จะต้องวางแผนให้คำแนะผู้สูงวัยและก็ทบทวนงานต่างๆ บ้าง ในกลุ่มอาจจะไม่ค่อยตอบโต้กันเท่าไหร่ แต่ในภาพรวมของหลายๆ ท่านให้ความสนใจ ทำให้มีแรงอยากทำงานกับพวกเขามากขึ้น พอได้คุยด้วยก็สนุก มีรอยยิ้มดีครับผม

สิทธินนท์ : มีประโยชน์มาก1เลยครับ ผู้สูงวัยมักจะเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้ง่ายๆ เมื่อเราได้ปูพื้นฐานให้พวกเขาจะทำให้เขามีภูมิมากขึ้น และ2ทำให้พวกเขาได้รู้เท่าทันโซเชียล ได้รู้ว่าสื่อ โซเชียลคืออะไร และเปิดโลกให้พวกเขาได้หาช่องทางเสริมหรืออาจเป็นช่องทางหลักในการรับรายได้ให้เขา และตลอด2วันที่ผ่านมา พั้นช์อาจจะยังทำอะไรไม่ได้มาก อาจเป็นเพราะพึ่งเริ่มต้น แต่ที่ได้ทำมาก็รู้สึกสนุกมากครับ ความรู้สึกตอนนี้คือเหมือนกำลังสอนคุณแม่ คุณยายหัดใช้โปรแกรมแอพต่างๆ ถามว่าสนุกไหม? สนุกนะครับ ชอบเวลาที่ได้เห็นความตั้งใจความพยายามๆ ของพี่ๆ ทุกท่านที่จะทำ จะเข้าzoom จะลองใช้แอพต่างๆ ที่อาจารย์สอน ดูแล้วสนุกดีครับอยากช่วยให้ทุกๆ ท่าน ได้สำเร็จตามบรรลุเป้าหมายครับ ถามว่าประทับใจตรงไหน จริงๆ ประทับใจทุกตรงครับแค่พั้นช์ได้ช่วย ได้บอกว่าต้องทำยังไงแล้วพี่ๆ ทำตามให้ความร่วมมือ ให้ความสนใจ เท่านี้ก็ประทับใจแล้วครับ

ลภนพร : ส่วนตัวในมุมของ buddy คิดว่ากิจกรรมนี้ทำให้ได้ทบทวนบทเรียนจากสิ่งที่เรียนมา และได้แบ่งปันความรู้ที่มีให้กับผู้อื่น ในส่วนของผู้สูงวัย คิดว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าใจ และรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด หรืออาจจะนำไปสร้างรายได้ในอนาคตได้ ด้านสิ่งที่ประทับใจจากกิจกรรมนี้คือ เวลาที่เห็นผู้สูงวัยตั้งใจเรียน และมีความสุขกับสิ่งที่กิจกรรมมอบให้ ทำให้รู้สึกว่าเขามีความเต็มที่ในการศึกษาและพยายามที่จะบรรลุให้ถึงเป้าหมายได้โดยเฉพาะเวลาเห็นคลิปวิดีโอที่เขาอัด ก็รู้สึกได้เลยว่าเขามีเรื่องราวมากมายเลยที่อยากจะเล่า เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะไปเล่าที่ไหน ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้และมีพื้นที่ที่จะแบ่งปันเรื่องที่ตนมีอยู่

โซเชียลกับคนรุ่นใหม่ดูเป็นของเข้ากัน แต่โซเชียลกลับผู้สูงวัย ทำไมถึงห่างไกลกัน คิดว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไรให้ไปด้วยกันได้?

นภัสมนต์ : คิดว่าทัศนะโซเชียลของคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าที่ไม่เข้ากันเป็นเพราะว่า เราโตมากันคนละยุคค่ะ รุ่นพี่ๆ เขาดูเป็นยุคสร้างเทคโนโลยีต่างๆ แต่รุ่นพวกหนูมันเป็นยุคที่มีเทคโนโลยีมาอยู่แล้วใช้ชีวิตกับมันแบบไม่รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กจนเกิดเป็นความเคยชินทางการเรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัว และส่วนตัวก็คิดว่าที่โซเชียลกลับผู้สูงวัยถึงทำไมถึงห่างไกลกัน นอกจากเรื่องราวการเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันแล้ว ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในก่อนที่จะมาถึงยุคนี้ก็คงไม่มีใครคาดคิดมั้งคะว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจะมีผลต่อเรามากขนาดนี้ ถึงขณะเราสามารถทำงานออนไลน์หน้าจอจากที่ไหนก็ได้แล้ว ด้วยความที่เราไม่รู้อนาคตจึงทำให้เราอาจจะพลาดในบางจุดทำความเข้าใจเทคโนโลยีเพื่อก้าวทันมันไปค่ะ แต่ไม่เป็นไรค่ะ อะไรก็สามารถเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ และเกิดขึ้นได้เพียงเราเริ่มยิ้มรับมันค่ะ อยากให้เริ่มจากการเปิดใจว่าอยากเรียนรู้จริงๆ เมื่อเรามีใจแล้วอะไรก็ไม่ยากค่ะ เราทำได้แน่นอน!! เหมือนกับพี่ๆ ทุกคนที่มาอยู่ในโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์คทุกคนในวันนี้ พี่ๆ ในโครงการนี้ก็เปิดหัวใจที่อยากจะเรียนรู้รับมันแล้ว คิดว่าอีกไม่นานพี่ๆ ก็จะใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ ได้คล่อยเช่นเดียวกับคนรุ่นเราเลยค่ะ และยังจะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้คนรุ่นเดียวกับพวกพี่ๆ ได้เห็นว่า สื่อและเทคโนโลยีก็ไม่ได้ยากอย่างที่เคยคิดใครๆ ก็ทำได้อีกด้วยค่ะ

เกวลิน : ปัจจุบันโซเชียลกับผู้สูงวัยห่างกันค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันนิยมให้โซเชียลกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะผู้สูงวัยเข้าใจได้ช้ากว่าคนรุ่นใหม่ เเต่โชคดีค่ะ ที่มีโครงการนี้ โครงการนี้ตอบโจทย์เเละเเก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ดี วิธีการช่วยเหลือของบัดดี้อย่างหนู ต้องมีความใจเย็น วิธีบอกเขาคือการบอกในลักษณะรูปภาพมากกว่า จะได้เข้าใจง่ายค่ะ

วชิรวิทย์ : ผมมองว่าเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมากกว่าที่มาเป็นตัวทำให้กลุ่มผู้สูงวัยเข้าถึงได้ยากแต่ถ้าเค้าได้ลิงค์เรียนรู้ไปกับมันได้ ก็สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดทำให้เกิดรายได้ได้ในโลกโซเชียล และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าจุดที่ทำให้พวกเขาทำไม่ได้น่าจะเกี่ยวกับการสื่อสารที่อาจจะไม่มีใครสอน หรือสอนแล้วถามเยอะก็จะหงุดหงิด ถ้าลองได้เข้าใจกันและกัน และพร้อมเรียนรู้ ผมว่าเราจะสามารถลดช่องว่างตรงนี้ได้เลยครับ

สิทธินนท์ : อาจเป็นเพราะกาลเวลาหลายๆ อย่างที่บังคับให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคและสมัยไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรอบตัว สังคมและสิ่งแวดล้อมจึงทำให้คนรุ่นใหม่นั้นต้องมีการปรับตัวและเข้ากับมันให้ได้เพื่อจะได้ทันโลกทันสมัย แต่ในทางกลับกันผู้สูงวัยที่เขาเคยอยู่กับการเขียนจดหมาย การใช้เพจเจอร์ การที่ในยุคไม่มีอินเทอร์เน็ต เมื่อถึงยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจึงทำให้ปรับตัวได้ค่อนข้างยาก จึงทำให้เกิดช่องโหว่ของผู้สูงวัยกับโซเชียลเกิดขึ้น แน่นอนว่าแนวทางการแก้ปัญหาหาอาจทำได้ยากเพราะผู้สูงวัยบางท่านก็ยึดติดกับอะไรเดิมๆ โดยไม่เปิดกว้างรับอะไรใหม่ๆ สำหรับพั้นช์ พั้นคิดว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือคนในครอบครัวให้ความสนใจกับผู้สูงอายุมากกว่า อาจจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เมื่อละลายพฤติกรรมได้ลูกหลานในบ้านนี่แหละครับที่พั้นช์มองว่าเป็นยาวิเศษชั้นดีที่จะช่วยรักษา เพราะแน่นอนผู้สูงวัยเขามักจะเชื่อคนในครอบครัวมากกว่าคนนอก แต่พั้นช์ในฐานะดิจิตอลบัดดี้จะทำตัวเป็นลูกเป็นหลานและช่วยเหลือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ เพื่อให้พี่ๆ กลุ่มสูงวัยทุกท่านไปถึงเป้าหมายครับ

ลภนพร :ส่วนตัวคิดว่า เพราะวัยรุ่นสามารถเรียนรู้ได้ชื่นชอบการได้ศึกษา พบปะ สร้างความสัมพันธ์ แบ่งปัน หรือเสพความหลากหลายของโซเชียล อีกทั้งยังตอบโจทย์ทางด้านการทำงาน การศึกษาเรียนรู้ และความบันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ เพลง หรือเกม ทำให้วัยรุ่นเข้าใจเกี่ยวกับสื่อใหม่ ๆ ได้ไว

ในส่วนที่ว่าทำไมผู้สูงวัยกับโซเชียลถึงห่างไกลกันนั้น ส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากผู้สูงวัยหลายคนยังเคยชินกับการพูดคุยแบบเห็นหน้า ได้พบปะกันตัวต่อตัว หรือโทรหากันโดยตรง มากกว่าการพูดคุยผ่านสื่อโซเชียล นอกจากนี้ผู้สูงวัยบางคน พอเห็นโซเชียลที่มีหน้าต่างแตกต่างกันมากมาย มีปุ่มนู้น ปุ่มนี้ บางที่เผลอกดไปโดนตรงอื่นนิดหน่อย ก็เปลี่ยนหน้า ทำให้เกิดความสับสน ยุ่งยาก ด้วยลักษณะของโซเชียลเหล่าผู้สูงวัยหลายท่านจึงรู้สึกถึงความยุ่งยาก ทำให้ไม่ค่อยได้ใช่สื่อโซเชียลอย่างวัยรุ่น และเลือกกลับไปฟังวิทยุ ดูทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์อย่างที่ตนเคยทำมากกว่าการใช้เวลากับมือถือและโซเชียล

สำหรับการแก้ไข คิดว่าอาจต้องเริ่มต้นที่ความสนใจของตัวผู้สูงวัยด้วยส่วนหนึ่ง หากมีความสนใจไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร จะหารายได้ ต้องการเข้าใจลูกหลาน สร้างคอนเทนต์ หรือแบ่งปันเรื่องราวดี ให้กับคนอื่น เมื่อเกิดความสนใจ ผู้สูงวัยก็จะเปิดใจมากขึ้นกับสื่อโซเชียล เมื่อเกิดความสนใจก็สามารถที่จะสอน โดยการค่อย ๆ ทำ หรือให้ทำไปพร้อม ๆ กัน และหมั่นทำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ลืม เมื่อเขาทำเป็นจะอย่างไรเขาก็จะสนุก และได้บรรลุเป้าหมายของตนเอง อย่างที่ทางกิจกรรมได้ให้ความรู้และจับมือทำนั่นเอง

ช่องทางการติดต่อสื่อสารโครงการ

Facebook:       สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค

Youtube:        สูงวัยหัวใจยังเวิร์ค

TikTok:           สูงวัยหัวใจยังเวิร์คง