- สาเหตุที่ผู้ใหญ่ไม่ “กล้า” ออกจากบ้านไปไหน เพราะส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวต่ออุปสรรคจากภายนอก ปัญหาสุขภาพ และไม่รู้จักสถานที่ใหม่ๆ เลยทำให้ไม่อยากไปไหน หรือไปก็ได้ไม่ไกลกว่ารอบบ้านตัวเอง อีกทั้งห่วงปัญหาการเงิน อยากเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน จนลืมห่วงความสุขของตัวเอง เหตุผลที่กล่าวมา เป็นที่มาของการจัดทำรายการสื่อน้ำดี “วันธรรมดา “กล้า” เที่ยว” ที่จะมาเป็นแรงบันดาลใจ และปลุกให้ผู้สูงวัย ออกมาทำอะไรเพื่อตัวเอง
ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ในปี 2565 โดย “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 กำลังจะกลายเป็น “กลุ่มประชากรสูงอายุกลุ่มใหญ่มากในปี 2566” โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ประชากรสูงอายุของประเทศไทยได้เพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด[1] ซึ่งทำให้เราต้องเตรียมรับปัญหา “สูงวัยปัญหาสุขภาพรุมเร้า” จากการขาดการออกกำลังกายในกิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิตที่ถดถอย เนื่องจากภาวะร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีความเครียดสูง เสี่ยงภาวะ ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ (Burnout) นอกจากนี้ การรักษาระยะห่างทางสังคมที่ยาวนานจากโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความสำคัญมากขึ้น
[1] อ้างอิงรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยประจำ ปี 2563 โดย คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.)
ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อนุมัติจัดทำโครงการ วันธรรมดา “กล้า” เที่ยว วันชื่น คืนสนุก ของคนสูงวัยสุขภาพจิตดี ตามแนวคิด สุขภาพกายและจิตดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้….คุณ(ป้ากับลุง) ต้องสร้างเอง โดยเนื้อหารายการฯ จะเชิญชวนคุณลุงคุณป้า ผู้สูงวัย ให้ “กล้า” ออกไปเที่ยว ชวนเปรี้ยว..สร้างสีสันในวันธรรมดา เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง จะได้เที่ยวไปนานๆ พร้อมผลักดันให้มีความกล้าผจญภัยในโลกใหม่ สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ผู้สูงวัย อีกทั้งช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการสนับสนุนให้จัดทำรายการวันธรรมดา “กล้า” เที่ยว ว่า
“เป็นที่ทราบกันดีเรื่องสังคมสูงวัย ที่กำลังเป็นเรื่องที่หลายประเทศต้องเตรียมการรับมือ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้กลายเป็นสังคม สูงอายุแล้ว โดยมีอัตราผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแตะถึงร้อยละ 10 แล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ (ร้อยละ 22) / ไทย (ร้อยละ 19) เวียดนาม (ร้อยละ 1) / มาเลเซีย (ร้อยละ 11) /อินโดนีเซีย (ร้อยละ 10) / และเมียนมา (ร้อยละ 10) และในปี 2565 ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”[1] ทั้งนี้จากการที่ได้สำรวจลงลึกใน “กลุ่มผู้สูงอายุ” แบ่งเป็น ผู้สูงอายุวัยต้น ผู้มีอายุ 60-69 ปี และ ผู้สูงอายุวัยกลาง ผู้มีอายุ 70-79 ปี พบว่ามีปัญหาในเรื่องของ สุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่เข้าสู่ภาวะถดถอยเกินความจำเป็น ทั้งหมดแก้ไขได้โดยหลัก “พฤฒิพลัง” (Active elderly) ทำอย่างไรให้เหล่าสูงวัยไม่รู้สึกไร้ค่า คนกลุ่มนี้มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้สูงอายุ และยังเป็นกำลังให้กับสังคม และด้าน“การสูงวัยอย่างมีพลัง” (Active ageing) เป็นแนวคิดที่แสดงกระบวนการสร้างโอกาสให้กับตนเอง หรือ ประชากรทุกเพศทุกวัยที่จะเติบโตเจริญวัยขึ้นอย่างมีสุขภาพดี มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคม และมีความมั่นคงในชีวิต
ทางกองทุนฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว จึงได้อนุมัติให้จัดทำรายการท่องเที่ยว เพื่อผู้สูงอายุขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า รายการวันธรรมดา “กล้า” เที่ยว จะตอบโจทย์ความท้าทายของการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้สามารถสร้างประโยชน์ และมีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ให้เป็น “การสูงวัยที่ยังประโยชน์” (Productive ageing) มีความสามารถในการผลิตหรือบริการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่า ไม่ว่าผลผลิตหรือบริการนั้นจะให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรือไม่ก็ตาม และเป็น “การสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ” (Healthy ageing) คือสามารถรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติภารกิจประจำวันที่ช่วยให้เกิดการอยู่ดีมีสุขในผู้สูงอายุได้ต่อไปในอนาคต”
ด้าน ผศ.ดร. ณัฐพงค์ แย้มเจริญ ที่ปรึกษาโครงการวันธรรมดากล้าเที่ยว ได้จัดการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้สูงอายุ กลุ่ม 60-79 ปี หลากหลายสาขาอาชีพ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเสพสื่อของผู้สูงวัย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ดังนี้
“ผู้สูงอายุในกลุ่มรายได้ปานกลาง ที่เกษียณอายุแล้ว ในกลุ่มผู้หญิงจะมีความชื่นชอบในการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มผู้ชาย ในด้านการหาข้อมูลการเดินทาง มักจะได้แรงบันดาลใจจากสื่อโซเซียลมีเดียที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อยที่สุด ได้แก่ Line Facebook และ Youtube ตามลำดับ โดยกลุ่มเพื่อน คนใกล้ชิดจะมีอิทธิพลมากต่อการท่องเที่ยว เช่นการโพสต์ภาพการท่องเที่ยว การกินอาหาร ในที่ต่างๆ หรือการแชร์ข้อมูลรายการท่องเที่ยวให้แก่กัน โดยสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้มากที่สุดคือ สื่อออนไลน์ โดยจะใช้เวลากับการรับชมสื่อเหล่านี้ตลอดทั้งวัน แต่ไม่ต่อเนื่อง สำหรับรายการท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ กลุ่มนี้มีความต้องการให้นำเสนอรายการให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนสูงวัย ต้องมีครบทั้งกิน เที่ยว ทำบุญ และการเดินทาง ทั้งนี้ทั้งนั้น “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาที่จะเดินทางท่องเที่ยวอันดับ 1 จะต้องมีความสมเหตุสมผล ไม่แพงมากจนเกินไป ความสะดวกสบายในการเดินทาง และการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสิ่งสำคัญรองลงมา เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายและสุขภาพ เป็นต้น”
วันธรรมดา “กล้า” เที่ยว วันชื่น คืนสนุก ของคนสูงวัยสุขภาพจิตดีเป็นรายการท่องเที่ยวของผู้สูง วัย โดยผู้สูงวัย ซีซั่น 1 จำนวน 5 ตอน โดยมีการส่งเสริมให้ผู้สูงวัย มั่นใจอยากออกมาเที่ยว เพื่อลดทอนปัญหาสุขภาพร่างกายและที่สำคัญ ในเรื่องของจิตใจ ด้วยสโลแกน “เก็บวันเสาร์อาทิตย์ให้เป็นเวลาของครอบครัวส่วนวันธรรมดา….มาทำให้เป็นวันของเรา” ดำเนินรายการโดย ป้าอร – รศ.อิงอร สุพันธุ์วณิช นักเดินทางวัย 75 ปี ที่เปรี้ยวได้ทุกที่ สนุกได้ทุกวัน
โดยเนื้อหารายการ จะเชิญชวนชาวสูงวัย “กล้า” ออกเดินทางไปเที่ยวนอกบ้าน ด้วยรูปแบบความน่าสนใจต่างๆ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาความสุขให้กับตัวเอง และสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับตัวเองไปในตัว ลดทอนปัญหาของครอบครัว บุตรหลานไม่ต้องเป็นห่วง เพราะถ้าท่านกล้าเที่ยว ท่านก็จะได้สุขภาพที่แข็งแรง เกิดการอยู่ดีมีสุขในผู้สูงอายุ อีกทั้งได้ช่วยเหลือสังคม ด้วยการจับจ่ายใช้สอย เป็นกำลังทางเศรษฐกิจ สังคมที่สำคัญอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นผู้สูงอายุยังได้การเรียนรู้ ซึ่งไม่วันสิ้นสุดในโลกใหม่ๆ และรูปแบบใหม่ๆอีกด้วย
ท้ายสุดหลักใหญ่ใจความสำคัญ กลุ่มผู้สูงวัยทุกท่าน ต้องเริ่มต้นการเดินทางด้วยการเอาชนะคำว่า ลุงไม่อยากเที่ยว ป้าไม่อยากออกไปไหนให้ได้เป็นอย่างแรก
ติดตามรายการวันธรรมดากล้าเที่ยว ที่แสนสนุกสนาน รับแรงบันดาลใจเต็มๆ ได้ผ่านช่องทาง
Youtube วันธรรมดา กล้าเที่ยว : https://www.youtube.com/@BANGKOKMAMACREATIONS
Facebook วันธรรมดากล้าเที่ยว