ลดปัญหาโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกันลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการ บูรณาการความร่วมมือการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)” เป็นตัวอย่างเมืองอุตสาหกรรมแต่มีคาร์บอนต่ำ ด้วยแนวทางหลากหลาย พร้อมประกาศหาหน่วยงานร่วมอุดมการณ์เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาโลกเดือด โดยมี ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช ร่วมลงนาม
ดร.ชนะ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง TCMA และ สอวช. ในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ (SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY) ที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาสนับนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน Energy Transition ไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete รวมถึงเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)
“โครงการแรกที่จะร่วมกันดำเนินการ คือ ‘การศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล’ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปริมาณอุปสงค์อุปทาน (Demand Supply) กฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ และเชื่อมโยงผลการศึกษาใช้ประโยชน์กับการดำเนินงานภายใต้สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture Utilization: CCU) จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกลไกระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ CO2 ให้เป็นผลิตภัณฑ์เมทานอล (Methanol) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการหมุนเวียนคาร์บอนสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว
ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนในกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตจาก CO2 ขณะเดียวกันก็สามารถลดการปลดปล่อย CO2 ทั้งนี้ ประมาณการว่า การนำเทคโนโลยี CCU มาสร้างห่วงโซ่คุณค่าเป็นผลิตภัณฑ์ จะสามารถช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือกระจกได้ถึง 12 ล้านตัน CO2 ต่อปี” ดร. ชนะ กล่าว
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงที่มาของบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ว่า สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ทุกปี ได้เห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เข้าถึงโอกาสการได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับนานาชาติที่ปัจจุบันมีการพัฒนาต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology)
จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีศักยภาพและทรัพยากรต่างๆ เพียงพอที่จะพัฒนา เล็งเห็นการมีพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่าง SARABURI SANDBOX จะเป็นการแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังกับระดับนานาชาติ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนระดับนานาชาติและสร้างผลกระทบสูงจากการรวมกันดำเนินการใน 1 พื้นที่ และพื้นที่จังหวัดสระบุรีมีความพร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของพื้นที่นี้ และมีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านและสร้างผลกระทบสูงในการให้เกิดพื้นที่ Net Zero Emission
ดร. ชนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง TCMA และ สอวช. นี้ จะสามารถให้แนวทางที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สู่ Net Zero Emissions และเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ สำหรับการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)