รู้จัก “ธรรมนาวาวัง” เรียนรู้เรื่องการเข้าถึงพระรัตนตรัย ตามแนวทางพระราชดำริ

สืบเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ พร้อมคติธรรม ธรรมนาวา “วัง” ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แบบวิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และหลักอริยสัจถวายแด่เจ้าอาวาสไทยในแดนพุทธภูมิ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา (เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗) ณ ภายในพระมหาเจดีย์พุทธคยา วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

ในการนั้น ท่านเจ้าคุณ พระวิเทศวชิรญาณ วิ. (สมพงศ์ ญาณธีโร, ดร.) เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้เห็นความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกด้านการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์ทางกายและทางใจ นำมรรควิธีและอริยสัจกลับสู่แดนพุทธภูมิต่อลมหายใจของพระบรมศาสดาในเมืองกุสินารา แดนปรินิพพาน และประสงค์ให้ขยายผลไปทั่วแดนพุทธภูมิ ซึ่งงานเผยแผ่นั้นเป็นหัวใจหลักของงานพระธรรมทูตไทยตามนโยบายของพระเดชพระคุณ พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดียเนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา

โดยได้นำหลักปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำริ ธรรมนาวา “วัง” อันเป็นหลักธรรมที่ง่ายต่อการศึกษาและปฏิบัติของกลุ่มเยาวชน วัยรุ่นยุคใหม่ โดยยิ่งในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดมีพลังใจ แกล้วกล้า มั่นใจ เมื่อเผชิญกับปัญหาและความทุกข์ ด้วยหลักการระลึกถึงพระรัตนตรัย และขยายผลเพื่อนำพาตนและบุคคลอื่นให้พ้นจากทุกข์ โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในพุทธสถาน และวัดไทยในแดนพุทธภูมิ จึงได้นำหนังสือและแผ่นหลักธรรม ธรรมนาวา “วัง” ภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แบบวิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และหลักอริยสัจ ถวายแก่ พระปลัดจักรทิพย์ อภิญาโณ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เพื่อนำไปศึกษาหลักธรรม แนวทางการปฏิบัติ วางแผนการเผยแผ่ และเผยแพร่แก่พระภิกษุ สามเณร นักศึกษา นักเรียน เยาวชน ชาวอินเดีย ในโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนในอุปถัมภ์ของวัดไทยในแดนพุทธภูมิ และประชาชนชาวไทยในแดนพุทธภูมิ เพื่อเป็นการศึกษา และน้อมนำหลักธรรมมาปฏิบัติ เป็นแนวทางแห่งการคลายทุกข์ในปัจจุบัน และเพื่อเป็นปัจจัยสู่ความพ้นทุกข์ในอนาคต โดยระยะแรก ได้เริ่มต้นการเผยแผ่ในพุทธสถานสำคัญ อันเป็นที่ระลึกถึงพระรัตนตรัยได้อย่างชัดเจน เพื่อเสริมสร้างศรัทธาในการศึกษาและปฏิบัติ เจริญอริยมรรค ให้เกิดสัมมาทิฐิ รู้แจ้งในอริยสัจตามลำดับต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน “หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์” ฉบับธรรมนาวา “วัง” แก่พสกนิกรไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่ง แห่งองค์พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระราชฐานะพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ได้ทรงบำเพ็ญเพียรพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อทำนุบำรุง เจือจุน ให้พระพุทธศาสนา อันมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นพระศาสดา ได้ธำรงคงอยู่ให้พุทธบริษัททั้งหลายได้รับประโยชน์ โดยการศึกษา (ปริยัติ) น้อมนำพระธรรมคำสอนลงมือทำ (ปฏิบัติ) เพื่อเข้าถึง (ปฏิเวธ) ซึ่งสาระแก่นแท้ของพระศาสนา คือ ความสิ้นทุกข์ จึงได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการพระราชทานเผยแพร่หลักธรรมอันทรงคุณค่าที่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนประชาชนพลเมืองชาติ ทุกหมู่เหล่า ให้ได้ศึกษาหลักการวิธีปฏิบัติ อันได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระธรรม คำสอน เพื่อเข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่ชื่อว่า “พุทธะ” คือสัจธรรมที่เป็นความรู้ อย่างผู้รู้แจ้งด้วยปัญญา ผ่านหลักสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่พระพุทธองค์นำมาบอกสอน ที่ชื่อว่า “ธรรมะ” ด้วยการเป็นผู้น้อมนำประพฤติปฏิบัติจนสามารถรู้ตาม เห็นตาม ที่ชื่อว่า “สังฆะ” อันพุทธะ ธรรมะ สังฆะนี้เป็นสรณะที่พึงยึดเป็นพลังทางใจ พลังทางสติปัญญา อย่างแท้จริง ตามแนวทางการปฏิบัติธรรมนาวาของ พระจารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นธรรมทาน เพื่อประโยชน์สุข อันพึงจะได้รับจากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงผ่านหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ แก่พุทธบริษัท และประชาชนทุกหมู่เหล่า ถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา มาตาปิตุบูชา อาจริยบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทุกๆ พระองค์

ปัจจุบันโครงการ พุทธภูมิ “อินเดีย๑” Dhammanava Royal Palace Buddha Bhumi เริ่มดำเนินการโดย พระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ นำโดย พระเดชพระคุณ พระเทพโพธิวิเทศ (ปัจจุบัน พระธรรมโพธิวงศ์) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนขึ้น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ เพื่อให้เด็กเยาวชนท้องถิ่นอินเดียได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสานา เรื่องพระรัตนตรัย ที่พึ่งอันประเสริฐ ภายใต้แนวคิดการปลูกฝังเยาวชนให้หัวใจมีพระรัตนตรัย ให้สัมมาทิฐิผลิบานในดวงจิต ณ แดนพุทธภูมิ เมืองดาร์จีลิง (ราชินีแห่งหุบเขา) รัฐเวสต์เบงกอล – อินเดีย

นอกจากนั้นที่ผ่านมา ธรรมนาวา “วัง” พุทธภูมิ (อินเดีย๑) ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบวิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย (Recollection of the Triple Gem) การทักอารมณ์ (Discerning of Mental Stes) ตามแนวทางพระราชดำริ ธรรมนาวา “วัง” และปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาพัฒนาจิต ประมวลหลักธรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ณ สถานสงเคราะห์ Kripasaran Buddhist Mission เมืองดาร์จีลิง โดยมีเยาวชนชาวอินเดีย เชื้อชาติอินเดีย-เนปาล ที่เป็นชาวพุทธมากกว่า ๗๐ ชีวิต เข้าร่วมกิจกรรม โดยเยาวชน ณ ที่แห่งนี้ มีกิจวัตรในการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ทุกวันเป็นประจำ จึงทำให้เยาวชนมีความสนใจในกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีความรู้พื้นฐานในด้านพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

ในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ท่าน พระธรรมธีโร (ท่านเปมะ) Most Ven. Dhamma Dhiroo (Bhante Pema) มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คณะเผยแผ่ได้เข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องพระรัตนตรัย นำพาเยาวชนในสถานสงเคราะห์ได้เจริญอริยมรรค สัมมาทิฏฐิ ตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้เยาวชนที่อาศัยในสถานที่แห่งนี้ ได้เติบโตเป็นพุทธศาสนิกชนพร้อมกับการมีธรรมาวุธในการดำรงชีพ รู้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง และมีวิชาแก้ทุกข์เฉพาะหน้าในปัจจุบันและในอนาคต

อนึ่ง สถานสงเคราะห์ Kripasaran Buddhist Mission แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘ โดยพระธรรมวิริโย มหาเถโร อดีตเจ้าอาวาสวัด Gandha Madan Vihara เพื่อช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสในเมืองดาร์จีลิง โดยให้ทั้งที่พัก อาหาร การศึกษา และการสอนธรรมะปลูกฝังให้เป็นคนดี ตามหลักพระพุทธศาสนา

นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรม โรงเรียนต้นกล้าพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่พระธรรมทูตไทย สายประเทศอินเดีย วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ นำโดย พระเดชพระคุณ พระเทพโพธิวิเทศ (ปัจจุบัน พระธรรมโพธิวงศ์) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนขึ้น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ เพื่อให้เด็กเยาวชนท้องถิ่นอินเดียได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสานา เรื่องพระรัตนตรัย ที่พึ่งอันประเสริฐ หลักธรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และศึกษาวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างพุทธ ฮินดูและมุสลิม อันจักเป็นต้นกล้าที่เจริญเติบโตเป็นต้นไม้ที่บริบูรณ์ด้วยร่มและเงาให้พระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้

กิจกรรมในการเรียน ทุก ๆ วัน ยามเช้า นักเรียนทุกคนจะมาเวียนประทักษิณ สวดมนต์ไหว้พระ เจริญสมาธิ ณ พระมหาเจดีย์ และรับการสมาทานเบญจศีลจากพระสงฆ์ไทย แล้วจึงเข้าห้องเรียน การสอนเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ วิชาที่เรียน คือ การสวดมนต์ ไหว้พระ วิชาพระพุทธศาสนา วิชาพระพุทธประวัติ วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์อินเดีย โดยทางวัดจะจัดเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นประจำทุกวัน จัดครูสอนชาวท้องถิ่นและพระสงฆ์ธรรมทูตไทย รับเด็กนักเรียนจำนวน ๑๒๐ คน

ท้ายสุด การเผยแผ่หลักธรรมนาวาวัง เป้าหมายไม่ได้เน้นจำนวน ภาพถ่ายหรือวิดีโอโปรโมท แต่สามารถทำให้คนล่วงทุกข์ได้มากน้อยเพียงใด เข้าถึงสัมมาทิฐิ เจริญอริยมรรค รู้เรื่องอริยสัจได้แท้จริงกี่คน นี้เป็นหลักสำคัญ ที่เป็นพระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(ข้อมูลและรูปภาพจากเพจ ธรรมนาวาวัง)

https://www.facebook.com/dhammanavaroyalpalace

https://www.facebook.com/profile.php?id=61564676731750

หมายเหตุ

หนังสือ “ธรรมนาวา วัง” คือ หนังสือคู่มือชีวิตพระราชทาน ที่รวบรวมกระบวนการและวิธีการในการดับทุกข์ด้วยปัญญาของตนผ่านหลักสัจจศาสตร์ ศาสตร์แห่งความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ๔)

ประกอบไปด้วยหนังสือ ๔ เล่ม

๑. หลักการชาวพุทธ

๒. อริยสัจภาวนา

๓. หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

๔. แนวทางปฏิบัติ ธรรมนาวา “วัง”

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายแต่ลึกซึ้ง สามารถใช้ตั้งแต่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันจนถึงดับภพดับชาติเข้าสู่มรรคผลนิพพาน

เรียบเรียงเป็นกระบวนการ เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย พร้อมภาพวาดฝีพระหัตถ์ประกอบเนื้อหา อ่านได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา เพราะคือคู่มือเผชิญความจริงของชีวิตของมวลมนุษยชาติ

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.dhammanava.net/ebooks

#ธรรมนาวาวัง

#dhammanavawang

#dhammanavaroyalpalace

ความหมายของ ธรรมนาวา “วัง”

ถ้าจะเปรียบเหมือนเรือลำหนึ่งที่ลอยอยู่กลางห้วงทะเลก็คือจุดเริ่มต้น ของธรรมะที่พระอาจารย์ได้นำมาบอกสอนแก่ชาวบ้านหรือผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ ทีนี้เรือลำนี้ที่ชื่อว่า ธรรมนาวาได้นำพาคนขึ้นสู่เรือได้รับความปลอดภัยด้วยหลักแห่งธรรม คำว่า “ธรรม” พระอาจารย์มุ่งหมายเอา อริยสัจ4 นาวาหมายถึงเป็นเรือที่จะรองรับจิตใจของชีวิตมนุษย์เพราะทุกคนเปรียบประดุจดั่งผู้ตกอยู่ภายใต้ทะเลแห่งความทุกข์ทุกคนมีความทุกข์เสมอเหมือนกันหมดไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น ฉะนั้นไม่มีใครมีความทุกข์มากกว่าใครในที่นี้ ทุกคนมีความทุกข์เท่าเทียมกันเพียงแต่ว่าเหตุปัจจัยนำมาแห่งความทุกข์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร อันนั้นก็ขึ้นอยู่กับพวกเราเองว่าจะอยู่ในจุด จุดไหนอยู่ในตำแหน่งไหนที่จะได้รับผลของการกระทบจากความทุกข์ในจุดจุดนั้น

ฉะนั้นธรรมนาวา จึงมองเห็นว่าหากได้นำหลักธรรมนี้ให้กับผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติจนสามารถแก้ไขหรือดับทุกข์ได้ นั่นหมายความว่าเขาได้ขึ้นมาสู่เรือซึ่งเป็นสถานที่อันปลอดภัยท่ามกลางทะเลแห่งความทุกข์นั้น และเรือลำนี้ได้ล่องลอยมาถึงเรือที่เรียกว่า เรือหลวง ก็คือ ธรรมนาวา “วัง” นี้ เริ่มเป็นเรือที่ใหญ่แล้วก็ทรงได้หยิบเอาหลักธรรมที่อยู่ในธรรมนาวาในบางส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญมาเป็นธรรมะพระราชทานที่จะมอบให้พสกนิกร จุดนี้นี่เองจึงเป็นที่มาที่ไปของคำว่า “ธรรมนาวาวัง” ที่จะมอบความรู้หรือเป็นหลักสูตรพระราชทานให้พวกเราได้ศึกษาเรียนรู้

………………………………………………………………….