แต่ก่อนผลผลิตไม่งอกงามเท่าไหร่ เกษตรกรก็ต้องถอดใจ เอามือก่ายหน้าผาก เพราะปัญหาฟ้าฝน สภาพอากาศ เป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ และต้องยอมรับว่ามีผลมาก ต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงอารมณ์ของสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป ไมใช่ว่าจะเอา “พืชผล” หรือ “สัตว์เลี้ยง” ไปไว้นอกโลก หรือที่ๆ มีสภาพอากาศในแบบที่ชอบและควบคุมได้ เลี้ยงหรือปลูกกันในประเทศนี้แหล่ะ พื้นที่จำกัดก็สามารถเพาะปลูกได้ด้วยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เจ้าของรางวัล สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร และสิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ด้านวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เวที “นักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่ ประจำปี 2558” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลงานที่ได้รับเป็นของอาจารย์และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร ชื่อผลงาน ว่า “ระบบควบคุมสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือนแบบอัจฉริยะและประหยัดพลังงาน” หรือ ตู้ควบคุมออนไลน์
นอกจากคอนเซปต์และแนวคิดแล้ว สิ่งประดิษฐนี้โดดเด่นและแจ๋วขนาดไหน ถึงได้เป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าผลงานกว่า 900 ชิ้นของผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศ โดยมีหัวหอกคนสำคัญ ผศ. ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน และอีกตำแหน่งคือ ผู้อำนวยศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ หรือ AICentre พร้อมทีมงาน นำโดย ดร.ดำรงค์ สมมิตร์ รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เเละอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
“ก่อนอื่นต้องบอกว่า ที่มหาวิทยาลัยของเราไม่ได้เปิดสอนคณะเกษตร แต่เราคิดว่า โดยพื้นฐานประเทศของเราเป็นเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อยู่ภาคการผลิต ถ้าการผลิตไม่ดี ผลิตไม่ได้ หรือผลิตน้อย ก็ส่งผลต่อรายได้ของประชากร โดยเฉพาะเกษตรกรจะน่าสงสารมาก และมหาวิทยาลัยของเราโดดเด่นด้านวิศวกรรม เป็นการรวมตัวของวิศวะจากสี่สาขาวิชา คือ สาขาวิศวกรรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เมคคาทรอนิกส์ และไฟฟ้า จึงคิดกันว่า น่าจะรวมกัน คิดสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในภาคการผลิตของเกษตรกร” “หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาและได้พบปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรต้องเผชิญกันมาช้านาน และที่ผ่านมายังไม่มี “เครื่องจักร” หรือ “ระบบ” เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์ในการทำ “ระบบควบคุมสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือนแบบอัจฉริยะและประหยัดพลังงาน” หรือ ตู้ควบคุมออนไลน์ เพื่อทำลายข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศ ที่มีการต่อการเติบโตของพืชและสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งการคิดค้นพัฒนาระบบนี้ เรียกรวมๆ ว่า “สมาร์ท ฟาร์ม” หรือ “ฟาร์ม ดิจิตอล” ครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูแลพืชและสัตว์ทุกชนิด ก่อนเขียนโปรแกรมต้องศึกษาถึงความชอบ ปัจจัยในการเจริญเติบโต ของสิ่งที่เราจะเลี้ยงแต่ละชนิดอย่างละเอียด แล้วนำมาเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างและทำให้อากาศ, ความชื้น ปริมาณก๊าซต่างๆ ที่มีผลต่อการเติบโต ฯลฯ ให้ตรงหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเลี้ยงนั้นให้มากที่สุด”
ด้าน กิตติชัย ท้าวโพธิ์ทอง บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาชาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และ จักราวุธ ศิรพัชรางกูร บัณฑิตคณะวิศวกรรมระบบสมองกลฝังตัว จาก “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Centre : AICentre) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เผยถึงคีย์ซัคเซสที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้ ฝ่าด่านผลงาน 900 กว่าชิ้น เข้าสู่รางวัลชนะเลิศได้ เพราะแนวคิด “ออนไลน์ น่ะไม่เท่าไหร่ ยุคนี้ต้องอัจฉริยะและประหยัดพลังงานด้วย”
กล่าวคือ “ระบบควบคุมสภาพภูมิอากาศโรงเรือนแบบอัจฉริยะ นั้นนำสมัยกว่าด้วยแทคติคสามอย่างประกอบเข้าด้วยกัน คือ ระบบประหยัดพลังงาน, ระบบอิเล็คทรอนิคส์ทำงานกับธรรมชาติอย่างลงตัว, ระบบตรวจสอบ แก้ไข ตั้งค่า ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งระบบควบคุมอัจฉริยะทั้งหมดได้ถูกออกแบบให้ควบคุมสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือน อุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ แถมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องนี้ ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับธรรมชาติได้ลงตัว ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ต่ำลง เพิ่มผลผลิตมากขึ้น ลดการใช้สารเคมีและแรงงานคน”
ความโดดเด่นของ ตู้ควบคุมสภาพภูมิอากาศโรงเรือนแบบอัจฉริยะ มีการทำงานผสมผสานระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า เป็นการทำงานที่สมบูรณ์แบบที่สุด เนื่องจากพลังงานจากธรรมชาตินั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง หากเราสามารถใช้งานได้อย่างพอเหมาะและพอดี พลังงานจากธรรมชาติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเราได้อย่างน่าเหลือเชื่อเลยทีเดียว ดังนั้นระบบที่ชาญฉลาดอย่างแท้จริง จะต้องสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานรอบตัวที่จะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้ ระบบควบคุมสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือน มีจุดประสงค์หลักคือ การรักษาสภาพภูมิอากาศภายในโรงเรือนไว้ให้เป็นไปตามความต้องการตลอดเวลา อย่างไรก็ตามระบบจะใช้สภาพภูมิอากาศรอบตัวเป็นข้อมูลในการตัดสินใจด้วย เช่น ในกรณีที่อุณหภูมิภายนอกโรงเรือนมีค่าตามที่ระบบต้องการ ก็จะหยุดการทำงานของอุปกรณ์ทำความเย็น และดึงอากาศภายนอกเข้ามาชดเชยแทนอากาศภายใน รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศภายนอกโรงเรือนเพื่อแยกแยะสภาพอากาศ ณ เวลานั้นได้อีกด้วย
สรุปจุดเด่น คือ ควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมความชื้น, ควบคุมแสงสว่าง ปริมาณก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, เป็นเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน, สามารถตรวจสอบ แก้ไข ตั้งค่าผ่านระบบออนไลน์ รองรับทั้งแอนดรอย ไอโอเอส และสมาร์ทโฟน, สามารถนำไปประยุกต์ คอยควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ปั๊มน้ำ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องให้อาหารพืชและสัตว์ เครื่องให้ปุ๋ย เครื่องพ่นยา โดยตู้ควบคุมสามารถสั่งการด้วยคำสั่งที่แตกต่างกันได้ถึง 4 โรงเรือน และถ้าเกิดเหตุพลิกผัน อุณหภูมิ, ไฟดับ ระบบก็จะแจ้งเตือนผ่านอีเมล์และมือถือให้สามารถดูและแก้ไขผ่านกล้องวิดีโอวงจรปิดด้วย รับประกันแก้ปัญหาได้ทันท่วงที”
แนวคิดเรื่อง “สมาร์ทฟาร์ม” หรือ “ฟาร์มดิจิตอล” ที่ทำให้สะดวกสบายขึ้น ปัจจุบันที่เป็นที่สนใจแล้ว ในกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ด โดยเฉพาะเห็ดถั่งเช้า ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละแสน นอกจากนี้ก็มีฟาร์มไก่ อนาคตจะขยายผลไปในพืชพันธุ์อื่นๆ ด้วย น่าสนใจยิ่งนัก ส่วนเกษตรกรมือใหม่ หรือ เกษตรกรรุ่นเก๋า ที่มีหัวใจไฮเทค หาโนฮาวใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ตลอดเวลา ก็สามารถไปติดต่อขอดูงานและเจ้าระบบอัจฉริยะนี้ได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Centre : AI Centre) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ที่ http://www.ai.mut.ac.th/ โทรศัพท์ 02 988 3655 ต่อ 2110