ไอดอลผู้นำรุ่นใหม่ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เตรียมมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ แก่ผู้นำฝรั่งเศส

 

  • ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส มีมาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี
  • สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ล้วนทรงผูกพันเชี่ยวชาญวัฒนธรรม, ภาษาฝรั่งเศส นอกเหนือจากนั้นยังทรงก่อตั้งและอุปถัมถ์สมาคมฯ
  • ปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนภาษาฝรั่งเศสกว่า 50,000 คน แบ่งเป็นมัธยมศึกษารัฐบาล 270 แห่ง, เอกชน 24 แห่ง, มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน 32 แห่ง, มหาวิทยาลัยราชภัฏ 7 แห่ง, สมาคมฝรั่งเศส 4 แห่ง และโรงเรียนนานาชาติอีกหลายแห่ง
  • ถือว่าประเทศฝรั่งเศสมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาไทย โดย โรงเรียนอัสสัมชัญก่อตั้งโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส “กอลมเบต์” รวมถึง “ฟ.ฮีแลร์”
  • ปัจจุบันยังได้สนับสนุนด้านการศึกษาของไทย ล่าสุดร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติ ศิลปากร จัดทำหลักสูตรสองปริญญา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งด้าน อักษรศาสตร์, ศิลปกรรมศาสตร์,โบราณคดี, วิทยาศาสตร์, แฟชั่น ฯลฯ

เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการสนับสนุนที่ประเทศฝรั่งเศสมีให้แก่ประเทศไทยในด้านต่างๆเรื่อยมา มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ ฯพณฯ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับความสามารถอันโดดเด่นในด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส (วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2561 ณ  โรงแรม โซ โซฟิเทล แบงคอก)

ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดี  วิทยาลัยนานาชาติ  เผยว่า นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส มร. มาครง ได้รับการยกย่องจากการดำเนินโครงการหลากหลายโครงการที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน การส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน การสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเชิงนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และท้ายที่สุด ก็คือบทบาทผู้นำในการต่อสู้ภาวะโลกร้อน

เป็นเวลากว่า 30 ปี รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างต่อเนื่องในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี โบราณคดี และศิลปะ และยังมีการจัดทำข้อตกลงด้านการศึกษาอีกจำนวนมากระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับสถาบันทางวิชาการของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันในประเทศฝรั่งเศสนับตั้งแต่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2546 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน วิทยาลัยนานาชาติได้ทำงานร่วมกันกับสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศสในการผลิตและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและยังมีการขยายเครือข่ายทางวิชาชีพร่วมกับองค์กรฝรั่งเศสต่างๆอีกด้วย  ปริญญากิตติมศักดิ์ที่มอบให้แก่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ฉบับนี้ จึงไม่เพียงนำความภาคภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น แต่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยอีกด้วย

งานแถลงข่าวมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมถึง  มร. จิลส์ การาชง  เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ และได้ร่วมพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสที่มีมายาวนาน ซึ่งท่านทูตเผยว่าหลังทราบข่าวได้ติดต่อถึงท่านประธานาธิบดีโดยตรง  ท่านผู้นำ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง รู้สึกปลาบปลื้มและดีใจมาก หลังจากนี้จะพยายามเคลียร์คิว เพื่อมารับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้วยตนเอง คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2019

 

เกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย เดิมคือโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ก่อตั้งโดย Corrado Ferroci (ศาสตราศิลป์ พีระศรี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และเจริญเติบโตเรื่อยมา ปัจจุบัน มี 4 วิทยาเขต และมีนักศึกษากว่า 20,000 คน

ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้ทันกับยุคโลกาภิวัตน์และเพื่อให้ก้าวทันกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร (SUIC) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อผลิตหลักสูตรที่มีคุณภาพ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษามีทักษะทางวิชาชีพที่เหมาะสมสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เกี่ยวกับประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส มร. เอ็มมานูเอล มาครง

เอ็มมานูเอล มาครง เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เคยทำงานด้านการธนาคาร และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจนกระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและกิจการดิจิทัลในรัฐบาลของนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีพรรคสังคมนิยม ก่อนจะลาออกและก่อตั้งพรรคการเมือง En Marche! หรือ Let’s Move ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงปัญหาเก่าในประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ที่ฝังรากลึกมานานกว่า 30 ปี

นายมาครงมีฐานความนิยมจากผู้มีการศึกษา ชนชั้นกลาง และคนหนุ่มสาว เนื่องจากเขาสนับสนุนสหภาพยุโรป และมีแนวคิดชาตินิยมน้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ รวมถึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้อพยพและคนต่างเชื้อชาติ ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศฝรั่งเศสที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจและเอื้อต่อการลงทุนของนักธุรกิจ  ไม่สังคมนิยมจัดเหมือนรัฐบาลพรรคสังคมนิยมของนายออลลองด์

ส่วนด้านประวัติของนายเอ็มมานูเอล มาครง เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ที่เมืองอาเมียงส์  ในครอบครัวที่ทั้งบิดาและมารดาเป็นแพทย์ จบการศึกษาจาก ENA สถาบันการปกครองชั้นสูงของฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อว่าผลิตนักการเมืองและประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เคยเป็นนักการเงิน นายธนาคาร นักการเมืองและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและดิจิทัล ก่อนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560