นครสวรรค์ พังงา ท้าชิม “น้ำผึ้งป่าทองคำ” และ “ปลาฉิ้งฉ้าง” งาน ผสาน สร้างสรรค์O ครั้งที่ 3

สสว. จับมือ ศูนย์ Excellence Center ด้านเกษตรและด้านการพัฒนาชุมชน ม.นเรศวร และ ม.วลัยลักษณ์  จัดงาน  “ผสาน สร้างสรรค์ มุ่งมั่น ยั่งยืน สุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน & Product Champions 2019” ครั้งที่ 3 นำวิสาหกิจชุมชนในโครงการฯ ที่มีศักยภาพกว่า 100 ราย ร่วมงานและจำหน่ายสินค้า โดยสุดยอดผลิตภัณฑ์    ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น Product Champions ครั้งที่ 3 คือ ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าผสมทองคำแท้  Oh..!! GOLD HONEY จากวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งพันธุ์ธาราทิพย์ จ.นครสวรรค์  และ ผลิตภัณฑ์ปลาฉิ้งฉ้างทอดกรอบรสต่างๆ (วันลาภ)  จากวิสาหกิจชุมชนบ้านกะไหล จังหวัดพังงา เชิญชม ชิม  ช้อป กันได้ ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ย. ณ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม

คุณทศพล ยูปานนท์ หัวหน้าส่วนประสานเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)   เผยว่า สสว. ได้ จัดงาน “ผสาน สร้างสรรค์ มุ่งมั่น ยั่งยืน สุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน & Product Champions 2019” เพื่อเป็นกิจกรรมทดสอบตลาด ซึ่งครั้งนี้ ดำเนินการเป็นครั้งที่ 3   โดย  สสว. คาดหวังว่าการดำเนินงานของ ศูนย์ Excellence Center ครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมพัฒนาเพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง     พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับ 400 วิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ยุทธพงศ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ม.นเรศวร    เริ่มดำเนินงานโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2562 (พื้นที่ภาคเหนือ) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 คณะทำงานได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อวางแผนการดำเนินงาน กำหนดการกิจกรรมต่างๆ และจัดทำหลักเกณฑ์การรับสมัคร และการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมโครงการ   และสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 410 ราย จากนั้นทำการวินิจฉัยเพื่อพัฒนา พร้อมฝึกอบรมฝึกปฏิบัติเชิงลึก 5 ด้าน ได้แก่ จัดทำแผนธุรกิจ การพัฒนาตราสินค้า โลโก้ การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การสร้างช่องทางตลาดออนไลน์  รวมถึงได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 รายธุรกิจ เพื่อร่วมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM

โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัล Product Champions ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าผสมทองคำแท้  Oh..!! GOLD HONEY จากวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งพันธุ์ธาราทิพย์ จ.นครสวรรค์

สำหรับจุดเด่นผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าผสมทองคำแท้  Oh..!! GOLD HONEY คัดสรรจากน้ำผึ้งป่าคุณภาพดีจากธรรมชาติมีการผสมทองคำแท้บริสุทธิ์ 99.99% ในน้ำผึ้ง บรรจุภัณฑ์ส่งเสริมถึงภาพลักษณ์ความเป็นไทยร่วมสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องผ่านภาพประกอบและกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์ อาทิ ลวดลายไทย ลายประจำยาม ลายกระหนก และลายยักษ์ที่คอยปกป้องรักษาพระศาสดา พร้อมทั้งบรรจุภัณฑ์ชั้นในและชั้นนอกที่มีการออกแบบเพิ่มเติมทางด้านปกป้องตัวสินค้ามากขึ้นเพิ่มความสะดวกในด้านการขนส่ง ไปยังจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

 

ผศ.ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2562   โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์ในการนำวัตถุดิบ ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น   มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เสริมสร้างความรู้ พัฒนาทักษะให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนให้มีการบริหารจัดการที่ดี และผลิตภัณฑ์ หรือบริการของชุมชนที่ได้มาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (Cluster) และความร่วมมือ ระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาองค์ความรู้ และความเป็นอยู่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากส่วนบุคคล (เพื่อการยังชีพ) เป็นการรวมกลุ่มชุมชน (ยังชีพและธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก) เป็นการยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจ (วิสาหกิจชุมชน) และพัฒนาเป็น SMEs (วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนนิติบุคคล/นิติบุคคล –บจก.-หจก.

โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ตั้งแต่การวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ภาคการเกษตร เพื่อวางแผนการดำเนินงาน  จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทฤษฎีและเชิงปฏิบัติการด้านธุรกิจ   ในเรื่องความรู้พื้นฐานการวางแผนภาษี, เทคนิคการตั้งราคา และช่องทางการตลาดออนไลน์และเรื่องความรู้พื้นฐานแนวคิดการทำธุรกิจยุค 4.0 ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 461 ราย คัดเลือกผู้ประกอบการมีศักยภาพจากจำนวนทั้งหมด 461 ราย เหลือ 55 ราย  จากนั้นคัดเลือกเหลือเพียง 20 ราย   เพื่อพัฒนาและค้นหา จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ปลาฉิ้งฉ้างทอดกรอบรสต่างๆ(วันลาภ)  จากวิสาหกิจชุมชนบ้านกะไหล จังหวัดพังงา ซึ่งปลาฉิ้งฉ้างเป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 โปแทสเซียมและแคลเซียมในปริมาณที่สูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และยังช่วยลดระดับความดันในโลหิต กับการผลิตที่ปราศจากผงปรุงรส และวัตถุกันเสีย จึงทำให้มีรสชาติ หวาน มัน กรอบ อร่อยลงตัว จึงมีความแตกต่างกับแบรนด์อื่นๆ

เห็นได้ชัดว่า “นวัตกรรม” เท่านั้น ที่เป็นการทำการตลาดอย่างยั่งยืน ใครที่คิดจะทำอะไร สร้างจุดเด่นและมองหาความต่างไว้เลย รางวัลจะใกล้แค่เอื้อม