“มิตรผล” ลั่นกลองเปิดโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ เดินเครื่องเปิดหีบอ้อยเป็นปีแรก พร้อมจัดพิธีโยนอ้อยประจำปี 2562/2563 เป็นการบ่งบอกถึงการเริ่มต้นฤดูหีบอ้อยอย่างเป็นทางการ โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐ ชาวไร่อ้อยจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร สหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำเซบาย และพนักงานโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ เข้าร่วมงานรวมกว่า 400 คน โดยภายในงานมีการรณรงค์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการจราจรและขนส่งอ้อย การส่งเสริมตัดอ้อยสดตลอดฤดูหีบ และการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น อาทิ ตำรวจทางหลวง และตำรวจ สภ.น้ำปลีก พร้อมต่อยอดพัฒนาความรู้การทำไร่อ้อยด้วยหลักเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชน
นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งโรงงานน้ำตาลในจังหวัดอำนาจเจริญว่า “แต่เดิมพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรมีการทำไร่อ้อยอยู่แล้วกว่า 80,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยประมาณ 800,000-1,000,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยไปยังโรงงานในจังหวัดใกล้เคียง เช่นกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูง การเกิดขึ้นของโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่อีสานตอนล่างในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนตามมาด้วยในหลายด้าน ซึ่งการพัฒนาชุมชนเป็นหัวใจสำคัญที่กลุ่มมิตรผลตระหนักถึงตามแนวทางการพัฒนาขององค์กรซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และตรงกับหลักปรัชญาในการร่วมอยู่ ร่วมเจริญกับชุมชนในทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน”
ด้าน นายอุทิศ สันตะวงศ์ ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำเซบาย เผยความรู้สึกหลังการเปิดหีบอ้อยในพื้นที่เป็นปีแรกว่า “ดีใจแทนพี่น้องชาวไร่อ้อยที่วันนี้โรงงานน้ำตาลได้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ชาวไร่อ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรรอคอยกันมานาน พวกเรามีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องแบกรับค่าขนส่งระยะทางไกลที่มีต้นทุนมาก และยังต้องรอคิวส่งอ้อยนาน นอกจากนี้ ก็อยากจะขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่รับฟังความคิดเห็นของชุมชน พิจารณาอย่างเป็นธรรม และอนุมัติให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบดำเนินงานได้ในวันนี้ ชาวไร่อ้อยมั่นใจว่าโรงงานน้ำตาลจะมาพร้อมกับความเจริญและผลักดันเศรษฐกิจรายได้ให้กับพวกเราชาวอำนาจเจริญและยโสธรต่อไป”
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ มีกำลังการหีบอ้อย 15,000 ตันต่อวัน และเป็นโรงงานที่มีการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันกับคณะกรรมการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยตัวแทนภาครัฐ ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีแรกนี้ 1.1 ล้านตันอ้อย จากชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรที่มีอยู่กว่า 7,500 ครัวเรือน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรกว่า 1,200 ล้านบาท พร้อมด้วยการเติบโตของธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักอาศัยในชุมชน เป็นต้น อีกหลายร้อยล้านบาท และภาษีบำรุงท้องถิ่นที่สามารถนำไปพัฒนาจังหวัดได้ต่อไป
โรงงานยุคใหม่ ไม่ใช่ผู้ร้ายแต่เป็นฮีโร่นะ เรามีข้อสรุป “โรงงานน้ำตาล” มีส่วนช่วยเศรษฐกิจและชุมชนอย่างไร???
1.) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
1.1 สร้างรายได้หมุนเวียน ในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรกว่า 1,200 ล้านบาท จากการรับซื้ออ้อยเข้าหีบ การจ้างบุคลากรทำงานในโรงงานน้ำตาลจำนวนกว่า 400 ตำแหน่ง และการลดภาระค่าขนส่งอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยได้ประมาณ 100 บาทต่อตัน หรือรวมกว่า 120 ล้านบาทต่อปี
2.) การพัฒนาด้านสังคมและชุมชน
2.1 ส่งเสริมความรู้ในการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ ด้วยแนวคิด “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่มุ่งเน้นการทำไร่อ้อย
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรควบคู่กับการบริหารจัดการแบบใหม่ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มปริมาณ คุณภาพ และรายได้ให้กับชาวไร่อ้อย
2.2 ส่งเสริมความรู้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการทำไร่อ้อยโดยประยุกต์ใช้หลักการแบ่งพื้นที่ของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและสร้างรายได้เพิ่ม
เป็นรายวัน รายเดือนให้กับชาวไร่ โดยโครงการนี้มีตัวเลขดัชนีความสุขในครัวเรือนสูงถึง 80% สะท้อนถึงความสุขที่สัมผัสได้จริงจากการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของชาวไร่อ้อยและชุมชน (ปัจจุบัน มีเกษตรกร
ชาวไร่อ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญเข้าร่วมโครงการฯ 725 คน และมีศูนย์ปลูก เพ(ร)าะ สุข ที่เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ในชุมชน 14 แห่ง)
2.3 พัฒนาชุมชนรอบด้านอย่างยั่งยืน ส่งเสริมชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ อาทิ กลุ่มปลูกผักปลอดสาร การจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในชุมชนและพัฒนาเป็นชมรมผู้พิการ รวมถึงสนับสนุนงานประเพณีท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น งานกฐินชุมชน และการสร้างฝายเพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“เมื่อโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ได้แจ้งกำหนดการเปิดหีบอ้อยในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ชาวไร่อ้อยและชุมชนต่างก็ดีใจกันเป็นอย่างมาก เห็นได้จากรอยยิ้มของทุกคนที่ยินดี มีความสุขกันถ้วนหน้าที่สมหวังในการมาของโรงงานฯ หลังจากรอคอยมานานกว่า 3 ปี โดยระหว่างช่วงที่ก่อสร้างโรงงานฯ ที่ผ่านมานั้น ธุรกิจหลายประเภท ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักอาศัย ได้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชนมาแล้ว และทุกคนก็เชื่อมั่นว่าหากโรงงานได้เปิดหีบอ้อยแล้ว จะยิ่งสร้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนในลักษณะนี้ให้กับชุมชนและชาวไร่อ้อยได้อีกปีละหลายร้อยล้านบาท รวมถึงการเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาของจังหวัดต่อไป ”