- ช้างเป็นสิ่งที่อยู่กับคู่คู่บ้านคู่เมืองไทย ช้างเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศไทยเราตั้งแต่ไหนแต่ไร กี่ร้อยปีในประวัติศาสตร์ชาติไทย ช้างเป็นส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการสู้รบปรบมือ
- เรื่องของภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช้างมาก ไม่ว่าจะเป็นธงชาติของเราที่เคยมีช้างปรากฏเป็นส่วนสำคัญของธงชาติทั้งช้างเป็นส่วนสำคัญของชีวิตความเป็นไทย การดูแลช้างจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
- ปัจจุบันมีช้างราว 4000 เชือก เราควรดูแลเขาให้ดีตั้งแต่ต้น มีเครื่องมือ มีหมอ สามารถถือไปตรวจสอบ เช็คช้างตามปางต่างๆ ได้ทันท่วงที ลดการสูญเสียช้างในอนาคต นอกจากนี้ควรต้องดูแลควาญช้างด้วย เพราะเขาใกล้ชิดกับช้าง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สืบสานพระปณิธานฯ ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในคนเท่านั้น ยังเชื่อมโยง สิ่งมีชีวิตระหว่าง คน สัตว์ และ สิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ หน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “วันช้างไทย 2565” เพื่อร่วมอนุรักษ์ช้างไทยที่เป็นสัตว์ประจำชาติ ตลอดจนความเป็นสัตว์สำคัญในระบบนิเวศและสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมเสวนาเพื่อสุขภาพช้างไทย ในหัวข้อ “เทคโนโลยีช่วยช้างชราจากโรคได้อย่างไร ?” โดยมี
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร เผยว่า
ช้างเอเชีย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาว โดยเฉลี่ยจะมีอายุได้มากกว่า 50 ปี และสามารถอยู่ได้กว่า 70 ปี และหากมีการจัดการที่เหมาะสมก็อาจจะพบได้ว่ามีอายุขัยที่มากกว่านั้นได้ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของมนุษย์ ในประเทศไทย มีการเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมาก ทั้งในสวนสัตว์ ปางช้าง และแคมป์ช้างรูปแบบต่างๆ มากมาย อยู่ทั่วทุกภูมิภาค ประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีมากถึง 4000 เชือก และเช่นเดียวกับคน เมื่อช้างมีอายุมากเกินกว่า 40 ปี หรือเริ่มเข้าสู่วัยชรา ก็จะสามารถพบความเจ็บป่วยได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุ หรือโรคที่อาจเป็นเรื้อรังแต่เพิ่งจะมาเริ่มแสดงอาการก็เป็นได้ โรคที่สามารถตรวจพบได้ในช้างชรา เช่น ปัญหากระดูกและข้อ ปัญหาสุขภาพเท้า โรคในทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ โรคไต หรือมะเร็ง เป็นต้น
โรคในช้างชรา บางโรคสามารถปรับที่ด้านการจัดการด้านการเลี้ยงได้ เช่น ช้างที่อายุมากเมื่อมีการผลัดฟันชุดสุดท้ายไปแล้ว จะส่งผลต่อการเคี้ยวหญ้า ซึ่งเป็นอาหารหลักของช้าง จึงต้องมีการปรับจากการให้หญ้าทั้งต้น เป็นหญ้าสับที่มีความละเอียดมากขึ้น สะดวกต่อการเคี้ยวและการย่อย ก็จะสามารถลดปัญหาภาวะท้องอืด หรือโรคในระบบทางเดินอาหารได้
อย่างไรก็ตาม โรคบางโรคนั้นอาจเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการป่วยชัดเจน หรือช้างอาจซ่อนอาการจนกว่าภาวะความผิดปกตินั้นรุนแรง และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น การตรวจพบนิ่วในไต หรือนิ่วกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งนิ่วในช้างสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหรือไม่เพียงพอ หรือการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลายาวนานก็สามารถทำให้เกิดนิ่วได้ และหากไม่สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที จะทำให้ช้างเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต ก้อนนิ่วนั้นไม่สามารถมองเห็นหรือวินิจฉัยได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้วิธีการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยสัตวแพทย์ โดยทั่วไปในคนหรือในสัตว์เลี้ยง จะใช้วิธีการทำอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดอย่างละเอียด ซึ่งในช้างข้อมูลตรงนี้ยังมีน้อยมาก
อาจารย์ นายสัตวแพทย์ฐิติพงษ์ ปลั่งแสงมาศ เผยว่า
อัลตร้าซาวด์ ปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วทุกพื้นที่ และมีความจำเป็นอย่างสูงในการรักษาสัตว์ ในด้านการรักษาช้าง จึงเริ่มมีการนำอัลตราซาวด์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยรวมถึงการทำงานวิจัยเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายช้าง เพื่อให้ตรวจพบสาเหตุของการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และหากผลวิจัยมีแนวโน้มที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์เพื่อให้สัตวแพทย์ทั่วโลก สามารถใช้การอัลตร้าซาวด์มาประกอบการตรวจสุขภาพช้างอย่างสม่ำเสมอ ในการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในช้างอีกด้วย